• รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์แล้ว หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ได้ ขณะที่เส้นตายเหลืออีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง

  • การชัตดาวน์จะทำให้ลูกจ้างรัฐบาลหลายแสนคนถูกพักงาน และจำนวนมากต้องทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ขณะที่โครงการช่วยเหลือประชาชนบางอย่างอาจถูกระงับ

  • การชัตดาวน์ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยิ่งรัฐบาลต้องหยุดงานนานยิ่งเสียหายมากขึ้น เช่นการชัตดาวน์ในปี 2562 สหรัฐฯ ก็เสียหายไปถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์

สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เหลือเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงแล้วในการช่วยรัฐบาลกลางไม่ให้ประสบปัญหาชัตดาวน์ แต่ สส.รีพับลิกันกลุ่มหนึ่งยังคงปฏิเสธที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวที่จำเป็นต้องผ่าน หากปราศจากเงื่อนไขให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายจำนวนมากลงไปด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. 2566 กลุ่มรีพับลิกันฝ่ายขวาจัดในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โหวตคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ที่จะทำให้รัฐบาลยังมีเงินใช้จ่ายไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เพื่อที่เหล่าสมาชิกสภาจะได้มีเวลาเจรจาร่างฯ งบประมาณฉบับใหม่ได้

นายเควิน แม็คคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อทำให้สมาชิกพรรคของเขารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน สนับสนุนร่างกฎหมายระยะสั้นฉบับนี้ ก่อนที่เส้นตายจะมาถึงในเวลาเที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 30 ก.ย. 2566 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ

ในขณะที่รีพับลิกันกำลังเจอทางตัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็กำลังขยับเข้าใกล้ภาวะชัตดาวน์ครั้งที่ 4 ในรอบทศวรรษมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจทำให้ลูกจ้างรัฐบาลหลายแสนคนถูกพักงานชั่วคราว และอาจทำให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหรัฐฯ ถูกปรับลดลง

...

เควิน แมกคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
เควิน แมกคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

รัฐบาลชัตดาวน์คืออะไร?

ภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเมื่อสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณที่กำลังจะมาถึงได้ โดยทุกปี คองเกรสต้องผ่านกฎหมายจัดสรรงบประมาณ 12 ฉบับ วางข้อกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ และตั้งเพดานการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงาน

สหรัฐฯ มีกฎหมายที่ชื่อว่า Anti-Deficiency Act ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2427 กำหนดว่า ห้ามหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลใช้จ่าย หรือกระทำการใดๆ ที่จะทำให้มีข้อผูกมัดทางกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ โดยที่สภาคองเกรสยังไม่ได้ผ่านกฎหมายงบประมาณรับรอง

หมายความว่า ถ้าคองเกรสล้มเหลวในการผ่านกฎหมายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณใหม่ การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สำคัญจะต้องหยุดลงจนกว่าจะผ่านกฎหมายได้สำเร็จ แต่หากคองเกรสผ่านกฎหมายได้เพียงบางส่วน จะมีเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวเท่านั้นที่จะไม่ถูกบังคับหยุดการทำงาน ซึ่งเรียกว่าการชัตดาวน์บางส่วน

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

รัฐบาลสหรัฐฯ ชัตดาวน์บ่อยแค่ไหน?

ในช่วง 200 ปีแรกหลังจากก่อตั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยเผชิญการชัตดาวน์เลย แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีหลังมานี้ การชัตดาวน์กลับกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น เนื่องจากมันถูกใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมือง โดยเกิดมาทั้งหมด 20 ครั้งนับตั้งแต่สหรัฐฯ เปลี่ยนเริ่มปีงบประมาณในวันที่ 1 ต.ค. เมื่อปี 2519 แต่มี 3 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเต็มๆ

หนึ่งคือการชัตดาวน์บางส่วนเป็นเวลา 21 วันในปี 2538 จากความขัดแย้งเรื่องการตัดลดการใช้จ่ายระหว่างประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน กับนายนิวต์ กิงริช ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งถูกมองอย่างกว้างขวางว่า เป็นเหตุการณ์ที่ตั้งบรรทัดฐานให้การชัตดาวน์ถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองในภายหลัง

ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ชัตดาวน์บางส่วนไป 16 วัน หลังรีพับลิกันซึ่งขณะนั้นครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสพยายามใช้เรื่องงบประมาณมาต่อรอง เพื่อตัดงบกฎหมายประกันสุขภาพฉบับเข้าถึงได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โอบามาแคร์’

และครั้งล่าสุดในปี 2562 เป็นการชัตดาวน์นานถึง 34 วัน นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงมกราคม 2562 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะลงนามกฎหมายจัดสรรงบประมาณทุกฉบับ ที่ไม่รวมงบ 5.7 พันล้านดอลลาร์ที่เขาขอเพื่อใช้สร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ซึ่งการชัตดาวน์ครั้งนี้ทำให้ความนิยมในตัวนายทรัมป์ลดลงอย่างมาก

...

ชัตดาวน์ส่งผลกระทบวงกว้าง

อย่างที่ระบุไปข้างต้น หากคองเกรสผ่านกฎหมายไม่สำเร็จ จะมีเพียงส่วนสำคัญของแต่ละหน่วยงานเท่านั้นที่ยังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีการวางแผนเพื่อกรณีเกิดการชัตดาวน์ ว่าจะให้ส่วนไหนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและส่วนใดจะต้องหยุด รวมถึงกำหนดว่าจะมีพนักงานทำงานต่อกี่คน และกี่คนที่ต้องพักงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหยุดงานเป็นจำนวนมาในช่วงชัตดาวน์ บริการมากมายก็จะถูกหยุด หรือดำเนินการได้ช้าลง กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเมริกันจำนวนมาก การดีเลย์ของเที่ยวบินต่างๆ อาจมากขึ้น เหมือนที่เคยเป็นในการชัตดาวน์เมื่อปี 2562 เนื่องจากพนักงานหอควบคุมการบินขาดแคลน

การจ่ายเงินประกันสังคมแก่ผู้สูงอายุ, ผู้พิการชาวอเมริกัน และอื่นๆ จะยังดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับบริการไปรษณีย์ แต่เด็กจากครอบครัวรายได้น้อยราว 10,000 คน อาจถูกตัดการเข้าถึงโครงการ ‘Head Start’ ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการเติบโตของเด็กจนถึงอายุ 5 ขวบ ทั้งในเรื่องการเรียนรู้และการพัฒนาช่วงแรกเริ่ม, สุขภาพ และสวัสดิภาพของครอบครัว

ส่วนโครงการโภชนาการเพิ่มเติมพิเศษสำหรับ สตรี, ทารก และเด็ก (WIC) อาจหยุดชะงักในทันทีหากรัฐบาลไม่มีมาตรการสนับสนุน เช่นเดียวกับการโครงการช่วยเหลือทางโภชนาการเพิ่มเติม (SNAP) ก็มีชะตากรรมที่ไม่แน่นอนหลังเข้าสู่เดือนตุลาคม

นอกจากนั้น โครงการซ่อมแซมถนนหรือทางรถไฟประจำวันก็อาจถูกระงับ เช่นเดียวกับการก่อสร้างด้านการขนส่งทั่วประเทศ อุทยานแห่งชาติทุกแห่งจะถูกปิดหรือให้บริการอย่างจำกัดมาก ขณะที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนทั้ง 21 แห่งทั่วสหรัฐฯ และสวนสัตว์แห่งชาติก็ต้องหยุดให้บริการ

...

ลูกจ้างรัฐหลายแสนคนเสี่ยงถูกพักงาน

เมื่อการชัตดาวน์เกิดขึ้น ลูกจ้างรัฐบาลกลางและสมาชิกกองทัพหลายล้ายคนจะยังไม่ได้รับค่าจ้าง จนกว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะจบลง ส่วนพนักงานที่มีหน้าที่สำคัญ เช่นในโครงการความปลอดภัยสาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ จะต้องทำงานต่อไป โดยไม่ได้ค่าจ้าง

คนทั้งสองกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เงินเก็บหรือใช้ช่องทางอื่นหาเงิน จนกว่าการชัตดาวน์จะจบลงและจนกว่าจะได้รับค่าจ้างย้อนหลัง

จำนวนผู้ได้รับผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าเป็นการชัตดาวน์บางส่วนหรือเต็มรูปแบบ ในการชัตดาวน์ครั้งก่อนเมื่อปี 2562 มีลูกจ้างรัฐบาลกลางกว่า 420,000 คนที่ต้องทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ขณะที่อีก 380,000 คน ถูกพักงานชั่วคราว แต่ในครั้งนี้ คาดกันว่า ผลกระทบอาจขยายวงกว้างกว่านั้น ส่งผลให้มีพนักงานถูกพักงานเพิ่มขึ้นอีก

พนักงานสัญญาจ้างของรัฐบาลยิ่งได้รับผลกระทบหนักกว่า เพราะไม่มีการรับประกันว่าพวกเขาจะได้เงินย้อนหลังเมื่อรัฐบาลเปิดทำการได้ ต่างจากลูกจ้างรัฐบาลกลาง คนกลุ่มนี้มีจำนวนหลายล้านคน รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่ทำงานให้กับนาซา, กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ, สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ คอยช่วยเหลือด้านไอที หรือซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน

...

เศรษฐกิจอาจเสียหายนับพันล้าน

การชัตดาวน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไปไกลมาก โดยเฉพาะหากรัฐบาลต้องปิดเวลานาน ทั้งขัดขวางการเติบโต ทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพิ่มอัตราว่างงาน ลดการเติบโตของจีดีพี และทำให้ต้นทุนกู้ยืมเพิ่มขึ้น โดยการประเมินของบริษัท เอิร์นสต์ แอนด์ ยัง (EY) ชี้ว่า การชัตดาวน์จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ 6 พันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ และจะทำให้จีดีพีไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลง 0.1%

ตามข้อมูลของสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรส การชัตดาวน์ในปี 2561-62 สร้างความเสียหายระยะสั้นแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ที่ไม่ได้กลับคืนมาหลังการชัตดาวน์สิ้นสุดลงแล้ว

นอกจากนั้น การชัตดาวน์ยังทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ชัดเจน เนื่องจากสำนักงานสถิติแรงงานจะหยุดเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น ตัวชี้วัดอันตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงาน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และบรรดานักลงทุนจะตีความสภาพเศรษฐกิจของประเทศและตัดสินใจใดๆ ได้ โดยเฉพาะตอนนี้ที่เป็นช่วงสำคัญในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจองเฟด

ธุรกิจทั่วประเทศก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่นในการชัตดาวน์ครั้งก่อน รัฐบาลต้องหยุด 2 โครงการกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งกระจายเม็ดเงินให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วประเทศถึงวันละเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ การกำเนิดธุรกิจใหม่ๆ ก็อาจหยุดชะงัก อย่างในปี 2562 การควบรวมบริษัททำได้ล่าช้า เพราะพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (SEC) มีไม่เพียงพอ

นอกจากนั้น สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจชั้นนำหลายเจ้า เตือนสหรัฐฯ มาหลายครั้งแล้วว่า การใช้สถานการณ์อันตราย ที่อาจนำไปสู่หายนะเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ กับการเกิดขั้วทางการเมือง กำลังส่งผลเสียต่อแนวโน้มอนาคตทางการเงินของสหรัฐฯ

มูดีส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งสุดท้าย ที่ยังให้สหรัฐฯ อยู่ในระดับ AAA ออกโรงเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การชัตดาวน์จะกระทบต่อระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ซึ่งหากความน่าเชื่อถือลดลงอีก สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยหนีสาธารณะมากขึ้น และส่งผลต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnaljazeeratheguardian