มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เอเวอร์แกรนด์ ถูกตำรวจจีนควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ เฝ้าจับตาตลอด 24 ชม.ท่ามกลางความล่าช้าของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะบริษัทประสบวิกฤติหนี้สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันที่ 27 ก.ย. 2566 ว่า นายฮุย กา ยัน (Hui Ka Yan) มหาเศรษฐีประธานบริษัท เอเวอร์แกรนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนควบคุมตัว โดยไม่มีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่นายฮุยถูกตำรวจดำเนินการเช่นนี้ ท่ามกลางความล่าช้าของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ มหาศาลกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

รายงานของบลูมเบิร์กระบุโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดว่า นายฮุย ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเอเวอร์แกรนด์ในปี 2536 ที่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ถูกตำรวจจีนพาตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และกำลังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่มีการเปิดเผย 

ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดนายฮุยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า วิธีการของตำรวจในครั้งนี้ ยังไม่ถือเป็นการจับกุมหรือคุมขัง และยังไม่ได้หมายความว่านายฮุยจะถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ 

แต่หากอ้างอิงตามกฎหมายอาญาของจีน ผู้ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดของตำรวจ นายฮุยจะไม่สามารถออกจากที่พัก หรือพบปะกับผู้อื่นโดยไม่รับอนุญาต อีกทั้งตำรวจจะยึดบัตรประชาชน และหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตชั่วคราว ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กระบวนการนี้สามารถดำเนินการได้ไม่เกิน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในมณฑลกวางตุ้งและบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าวของบลูมเบิร์ก

...

บลูมเบิร์กชี้ว่า นี่อาจเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่า การผิดนัดชำระหนี้ของยักษ์อสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีรายงานมีหนี้สินมากที่สุดในโลก อาจกำลังเข้าสู่เฟสหรือขั้นตอนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา โดยก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้จับกุมอดีตผู้บริหาร 2 ราย และเจ้าหน้าที่บางส่วนของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ เนื่องจากบริษัทเอเวอร์แกรนด์ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นทำให้เกิดวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในประเทศจีน นับตั้งแต่ปี 2564 โดยปัญหาหนี้สินมหาศาลของเอเวอร์แกรนด์ และความล่าช้าของการปรับโครงสร้างหนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง และเริ่มสั่นคลอนระบบเศรษฐกิจของจีน 

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศจีน เคยตำหนิว่าวิกฤติหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ มาจากการบริหารจัดการบริษัทที่ไม่ดี และขยายกิจการโดยขาดความระมัดระวัง อีกทั้งรัฐบาลจีนก็เรียกร้องให้นายฮุย นำเงินส่วนตัวของตัวเองมาชำระหนี้

ทั้งนี้ บริษัทเอเวอร์แกรนด์ได้ยื่นขอรับความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลายภายใต้มาตรา 15 ในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค.2566 ขณะที่วิกฤติภาคอสังหาฯ ของจีนได้ลุกลามต่อเนื่อง โดยบริษัท "Sunac China Holdings" เป็นบริษัทอสังหาฯ รายที่ 2 ของจีน ที่ยื่นล้มละลายตามมาเมื่อ 19 กันยายน ที่ผ่านมา

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : Bloomberg