องค์การนาซา ยืนยัน แคปซูลบรรจุตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย "เบนนู" เดินทางถึงพื้นโลกแล้ว ในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐฯ
แคปซูลของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา พร้อมตัวอย่างดินปริมาณมากที่สุดที่เคยเก็บจากดาวเคราะห์น้อย เดินทางกลับถึงพื้นโลกแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ทะเลทรายในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐฯ
แคปซูลถูกปล่อยออกมาจากยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ (Osiris-Rex) ที่ระดับความสูง 108,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ได้แตะลงภายในเขตลงจอดที่กำหนด ในเขตทะเลทรายเวสต์ ในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐฯ อย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 08.52 น. ของวันที่ 24 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น
การลงจอดซึ่งแสดงผ่านการถ่ายทอดสดของนาซา ถือเป็นการต่อยอดภารกิจร่วมระยะเวลา 6 ปี ระหว่างหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งนับเป็นเพียงตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยลำดับที่สาม และเป็นตัวอย่างที่มากที่สุดเท่าที่เคยนำกลับมายังโลกเพื่อทำการวิเคราะห์ หลังจากภารกิจที่คล้ายกันสองภารกิจโดยหน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่น ซึ่งสิ้นสุดในปี 2553 และ 2563
โอไซริส-เร็กซ์ เก็บตัวอย่างเมื่อสามปีที่แล้วจากเบนนู ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่อุดมด้วยคาร์บอน ซึ่งถูกค้นพบในปี 2542 หินอวกาศนี้จัดอยู่ในประเภท "วัตถุใกล้โลก" เพราะมันผ่านเข้ามาใกล้โลกของเราทุกๆ 6 ปี แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดการชนกับโลกถือว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก
ดาวเคราะห์น้อยเบนนู เกิดจากการรวมตัวของก้อนแบบหินหลวมๆ เช่นกองเศษหิน โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 500 เมตร ซึ่งนับว่าเล็กกว่าอุกกาบาตชิกซูลุบ (Chicxulub) ที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน และทำให้สิ่งมีชีวิต 75% บนโลก รวมทั้งไดโนเสาร์สูญพันธุ์ และเช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ เบนนู ถือเป็นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ของระบบสุริยะยุคแรกๆ เนื่องจากองค์ประกอบทางเคมีและแร่ธาตุในปัจจุบันแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ก่อตัวเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน มันจึงมีเบาะแสอันมีค่าเกี่ยวกับต้นกำเนิด และพัฒนาการของดาวเคราะห์เช่นโลก และมันอาจมีโมเลกุลอินทรีย์คล้ายกับโมเลกุลที่จำเป็นสำหรับการเกิดขึ้นของจุลินทรีย์
...
ตัวอย่างเก็บได้จากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยภารกิจฮายาบูสะ 2 ของญี่ปุ่น จาก "ริวกู" ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอีกดวงหนึ่ง ถูกพบว่ามีสารประกอบอินทรีย์ 2 ชนิด ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานที่ว่าวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และอุกกาบาตที่โจมตีโลกยุคแรกเริ่ม ทำให้ดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับชีวิต
โอไซริส-เร็กซ์ ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศเมื่อเดือนกันยายน 2559 และไปถึงเบนนูในปี 2561 จากนั้นใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย ก่อนที่จะเข้าใกล้พอที่จะเก็บตัวอย่างวัสดุพื้นผิวที่หลุดออกมาด้วยแขนหุ่นยนต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563
ยานอวกาศลำนี้เดินทางออกจากเบนนูในเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อกลับสู่โลก เป็นระยะทาง 1,900 ล้านกิโลเมตร รวมถึงการโคจรรอบดวงอาทิตย์สองรอบ
แคปซูลพุ่งชนบรรยากาศชั้นบนด้วยความเร็ว 35 เท่าของเสียง ประมาณ 13 นาทีก่อนลงจอด แคปซูลเรืองแสงสีแดงร้อนขณะตกลงสู่พื้นโลก และอุณหภูมิบนแผงป้องกันความร้อนสูงถึง 2,800 องศาเซลเซียส
โดยตัวอย่างของ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู อยู่ที่ประมาณ 250 กรัม ทีมนักวิทยาศาสตร์ และช่างเทคนิค ได้ร่วมเก็บกู้แคปซูล และพยายามรักษาตัวอย่างให้ปราศจากการปนเปื้อนบนพื้นโลก
แคปซูล และตัวอย่างดิน ถูกส่งโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยัง "ห้องปลอดเชื้อ" ที่พื้นที่ทดสอบในรัฐยูทาห์ เพื่อทำการตรวจสอบเบื้องต้น ส่วนในวันนี้ (25 ก.ย.) เครื่องบินขนส่งทางทหารจะขนส่งแคปซูล และตัวอย่าง ไปยังศูนย์อวกาศจอห์นสัน ขององค์การนาซา ในเมืองฮิวสตัน ซึ่งจะเปิดแคปซูลในวันอังคาร เพื่อนำตัวอย่างแยกบรรจุ และส่งให้กับนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 200 คน ในห้องปฏิบัติการ 60 แห่งทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ส่วนหลักของยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ คาดว่าจะเดินทางต่อไปเพื่อสำรวจอะโพฟิส ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอีกดวงหนึ่ง.
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign