• นายฮาดีพ ซิงห์ นิจจาร์ นักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ในแคนาดา ถูกลอบยิงเสียชีวิตกลางลานจอดรถ หน้าวัดซิกข์ ในเมืองเซอร์เรย์ รัฐบริติชโคลัมเบีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางตำรวจยังไม่มีการจับกุมใดๆ ขณะที่กระแสประท้วงเคลื่อนไหวพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลอินเดีย ซึ่งมักจะชอบปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกชาวซิกข์ 
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ระบุว่า เขามีหลักฐานเด็ดที่น่าเชื่อถือว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของอินเดีย มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหาร นายนิจจาร์ ซึ่งเป็นพลเมืองแคนาดา แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียให้ความร่วมมือในการสืบสวน
  • ข้อกล่าวหานี้สร้างความโกรธเคืองอย่างมากให้แก่รัฐบาลอินเดีย ซึ่งปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และตอบโต้ว่าแคนาดาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ขณะที่อินเดียปฏิเสธว่ามีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ และกล่าวถึงข้อกล่าวหานี้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ปฏิบัติการเคลื่อนไหวนอกประเทศอินเดียมานานหลายปี การเสียชีวิตของ นายนิจจาร์ ถือเป็นความรุนแรงครั้งแรกของชะตากรรมนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ในแคนาดา ขณะที่การกล่าวหาของ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่ว่ารัฐบาลอินเดียมีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะที่แคนาดากำลังสืบสวนกรณีนี้ และหากพบว่าอินเดียผิดจริงจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งจะถือว่าเป็นการสะท้อนชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในอินเดีย

...

ใครคือ "ฮาดีพ ซิงห์ นิจจาร์"

โดย นายนิจจาร์ เป็นชาวซิกข์ เกิดที่รัฐปัญจาบของอินเดีย ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่แคนาดาในปี 2540 และได้รับสัญชาติแคนาดาในปี 2550 เขาเป็นที่รู้จักในนามแกนนำการเรียกร้องเอกราชให้กับชาวซิกข์ในอินเดีย และการตั้งรัฐคาลิสถาน รัฐเอกราชของชาวซิกข์ โดยเขารณรงค์ให้คาลิสถานแยกเป็นรัฐออกมาจากรัฐปัญจาบของอินเดีย ทำให้เมื่อปี 2563 เขาถูกทางการอินเดียขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้าย

ที่ผ่านมา นายนิจจาร์ เปิดเผยว่า เขาได้รับคำเตือนจากหน่วยข่าวกรองของแคนาดาเกี่ยวกับการข่มขู่ต่างๆ ซึ่งตามรายงานขององค์การซิกข์โลกแห่งแคนาดา ระบุว่า เขาถูกลอบสังหารแบบการยิงเป้า

รัฐปัญจาบของอินเดีย ซึ่งมีประชากรเป็นซิกข์ 58% และฮินดู 39% ได้รับผลกระทบจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนคาลิสถานอันรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ปัจจุบันผู้สนับสนุนที่มีแกนนำมากที่สุดของขบวนการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาวปัญจาบพลัดถิ่นในต่างประเทศเป็นหลัก

ขณะที่แคนาดาถือเป็นประเทศที่มีชาวซิกข์อาศัยอยู่มากที่สุดในโลก รองจากอินเดีย ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 780,000 คน หรือมากกว่า 2% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียออกมาโจมตีแคนาดาที่ปล่อยให้มีการเดินขบวนของชาวซิกข์ หลังการลอบสังหาร นางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น โดยฝีมือของบอดี้การ์ดของเธอ ในปี 1984 ซึ่งรัฐบาลอินเดียมองว่าเป็นการประท้วงเชิดชูความรุนแรงโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์

ในปี 2561 นายทรูโด ให้คำมั่นกับอินเดียว่า แคนาดาจะไม่สนับสนุนใครก็ตามที่พยายามรื้อฟื้นขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอินเดีย แต่เขากลับพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เขาเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของผู้ประท้วง

เปิดที่มาของข้อกล่าวหาร้ายแรง

นายเดวิด โคเฮน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำแคนาดา ยืนยันว่า จุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหานี้มาจากรายงานแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองภายในพันธมิตรหน่วย "ไฟฟ์ อายส์" (Five Eyes) หน่วยงานความร่วมมือด้านข่าวกรองของ 5 ชาติ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่สงสัยว่ารัฐบาลอินเดียมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหาร นายฮาดีพ ซิงห์ นิจจาร์ แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนซิกข์ ชาวแคนาดา วัย 45 ปี

...

นายโคเฮน ระบุว่า ไฟฟ์ อายส์ ได้มีการแจ้งโดยตรงไปยังนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด นำมาซึ่งการที่ นายทรูโด นำข้อมูลนี้ไปเปิดเผยต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่าทางการอินเดียมีส่วนเกี่ยวข้อกับการตายของ นายนิจจาร์ ตามมาด้วยการรายงานข่าวของช่อง CBC (Canadian Broadcasting Corporation) แต่แหล่งข่าวไม่ได้ระบุว่าข้อมูลนี้มาจากชาติพันธมิตรใด ซึ่งหลังถ้อยแถลงนี้ได้ทำให้แคนาดากับอินเดียเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งรอบใหม่  

ทูตสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อกล่าวหาว่าอินเดียมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารนายนิจจาร์ นั้นทางไฟฟ์ อายส์ได้ข้อมูลมาจากการสอดแนมนักการทูตอินเดียในแคนาดา ซึ่งรวมถึงรายงานข่าวกรองที่ได้รับจากพันธมิตรรายใหญ่รายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ และเขาไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของข่าวกรองชิ้นนี้ต่อสาธารณะได้

อย่างไรก็ตามการเสียชีวิตของ นายนิจจาร์ ตามมาด้วยการปลดนายภวันต์ กุมาร์ ไร แบบฟ้าผ่า ซึ่งทางการแคนาดาระบุว่า นายไร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีท้องถิ่นของฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ ซึ่งเทียบเท่ากับหน่วย MI6 ของอังกฤษ หรือ CIA ของสหรัฐฯ 

มีรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นการสังหารผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์มาพูดคุยกับ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พร้อมแสดงความกังวลถึงข้อกล่าวหานี้

ขณะที่ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ มีความกังวลอย่างที่สุดต่อข้อกล่าวหาที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้หยิบยกขึ้นมา โดยบอกว่าสิ่งสำคัญคืออินเดียจะต้องทำงานร่วมกับแคนาดาเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง และสหรัฐฯ อยากให้คนผิดต้องรับผิดชอบต่อกรณีการตายของ นายนิจจาร์ ซึ่งหากผลสอบสวนออกมาว่า หน่วยข่าวกรองอินเดียมีความผิดจริง ก็อาจถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง 

...

ร้าวฉานรอบใหม่ ความสัมพันธ์อินเดีย-แคนาดา

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอินเดียกับแคนาดาอยู่ในจุดตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี นับตั้งแต่มีข่าวการลอบยิงสังหารนายนิจจาร์ 

นายอรินธรรม แบกจี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย แสดงความเห็นว่า จนถึงขณะนี้ทางการแคนาดายังไม่มีการแชร์ข้อมูลข้อกล่าวหาใดๆ ให้กับอินเดีย ทั้งก่อนและหลังที่ นายทรูโด ออกมากล่าวหารัฐบาลอินเดียว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร นายนิจจาร์ พร้อมตอบโต้กลับว่า แคนาดากำลังพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงคาลิสถานที่แคนาดาให้ที่พักพิง

ทางด้านอดีตเจ้าหน้าที่สถานีท้องถิ่นของฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ ยืนกรานว่า หน่วยงานของเขาทำงานด้านข่าวกรองอย่างเดียว และไม่เคยมีคำสั่งให้เป็นนักฆ่า หรือลอบสังหารใคร ซึ่งถือเป็นการขัดต่อปรัชญาในการทำงาน แต่หากหน่วยงานเปลี่ยนไปในช่วงที่เขาลาออกมาแล้ว เขาก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น

ขณะเดียวกันหน่วยงานให้บริการวีซ่าของอินเดีย ประกาศงดให้บริการออกวีซ่าให้กับพลเมืองแคนาดา ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้เหตุผลถึงการงดให้บริการว่าเป็น ปัญหาด้านการปฏิบัติงาน นอกจากนี้เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 อินเดียยังได้ขับไล่ข้าหลวงใหญ่ของแคนาดาประจำกรุงนิวเดลีออกจากอินเดียภายใน 5 วัน

...

นักวิชาการ มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและแคนาดาในตอนนี้ ถือว่าอยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด ท่ามกลางความตึงเครียดกรณีการสังหาร นายนิจจาร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แคนาดา และอินเดีย เห็นพ้องว่าจะตกลงโครงร่างของข้อตกลงการค้าได้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 แต่หลังเกิดเรื่องทั้งสองฝ่ายก็ประกาศระงับการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าฉบับนี้แล้ว โดยทางการแคนาดาให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อย ขณะที่อินเดียอ้างถึงพัฒนาการทางการเมืองบางอย่าง

อินเดีย เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 10 ของแคนาดา และแผนข้อตกลงทางการค้าอยู่ในแผนมานานกว่าทศวรรษ อย่างไรก็ตามในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าเพียง 13,700 ล้านดอลลาร์แคนาดา จากมูลค่าการค้าทั้งหมด 1.52 ล้านล้านดอลลาร์แคนาดา ตามสถิติของแคนาดา.

ข้อมูล Aljazeera, The Guardian