หลายครั้งที่นวัตกรรมใหม่ๆก็มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ อย่างเช่นทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน วิทยาเขตแซร์นีเกอร์ ในเนเธอร์แลนด์ ได้ลอกก้านของพืชที่มีลักษณะคล้ายหญ้าอย่างไม่ได้ตั้งใจขณะออกไปท่องเที่ยว และพบว่าภายในของก้านพืชมีโครงสร้างแบบโปร่งโล่ง พวกเขาคิดว่าจะศึกษาก้านพืชนี้ โดยใส่มันไว้ในเป้สะพายหลัง แต่ก็ลืมเลือนก้านพืชนี้ไปนานเกือบ 2 ปี จนกระทั่งเปิดพบมันในกระเป๋าเป้ใบนั้นอีกครั้ง

นักวิจัยเผยว่า มันเป็นวัชพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไปที่เรียกว่าหญ้าปล้องจีน (Juncus effusus L.) โครงสร้างของก้านประกอบด้วยชั้นแฉกเหมือนดาวเชื่อมต่อถึงกัน คล้ายกับเกล็ดหิมะเล็กๆ ชั้นเหล่านี้วางซ้อนกัน ทำให้เกิดโครงสร้างที่ช่วยให้อากาศไหลผ่านได้มาก รูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ในก้านหญ้าปล้องจีน ทำให้นักวิจัยเกิดความคิดว่าสิ่งนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ผลิตประจุไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเซ็นเซอร์หรือเป็นแหล่งพลังงานช่วยทำให้อุปกรณ์สวมใส่ที่มีขนาดเล็ก มีพลังงานใช้ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น สามารถใช้แทนที่แบตเตอรี่ที่สุดท้ายจะลงเอยด้วยการเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทีมวิจัยระบุว่า ได้สร้างอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ผลิตประจุไฟฟ้านี้ให้มีขนาดเท่าแสตมป์ ความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร ให้ทำงานเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยใส่ไว้ในรองเท้า เมื่อเดิน กระโดด หรือวิ่ง แรงกดจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างชั้นต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดประจุไฟฟ้า.