• โปแลนด์ หนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการช่วยเหลือยูเครนในสงครามกับรัสเซียมากที่สุด ประกาศจะหยุดส่งอาวุธให้แก่กองทัพเคียฟแล้ว หลังความตึงเครียดของทั้งสองประเทศพุ่งสูง

  • ยูเครนกับโปแลนด์เริ่มมีปัญหากันหลังจาก รัฐบาลวอร์ซอห้ามนำเข้าธัญพืชของเคียฟ เพราะกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรครัฐบาล ในขณะที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา

  • หลายฝ่ายกังวลว่า หากสถานการณ์ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เรื่องอาจบานปลายจนทำให้บางประเทศในยุโรป รู้สึกกดดันเรื่องการส่งอาวุธให้ยูเครนน้อยลง และเจริญรอยตามโปแลนด์

โปแลนด์ นึ่งในประเทศที่ใกล้ชิด และส่งเสียงเรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลือยูเครนมากที่สุด ตอนนี้ออกมาประกาศว่า พวกเขาจะหยุดการส่งอาวุธให้แก่รัฐบาลเคียฟแล้ว เป็นการพลิกผันนโยบายครั้งใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบถึงยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ยุโรปมีต่อยูเครน ซึ่งกำลังรับมือการรุกรานของรัสเซีย

การตัดสินใจของโปแลนด์เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า เป็นเรื่องคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดขึ้น หลังจากเกิดความตึงเครียดกันมานานหลายเดือน จากการที่หลายประเทศในสหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครน ในขณะที่โปแลนด์กำลังจะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งใหญ่

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้อาจกระทบต่อความพยายามของยูเครน ในการผลักดันกองทัพรัสเซียออกจากภูมิภาคทางตอนใต้ของประเทศ ในปฏิบัติการโต้กลับที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และคืบหน้าน้อยกว่าที่คาดหวังเอาไว้ และอาจส่งผลเป็นโดมิโน่ล้มไปยังท่าทีของประเทศอื่นๆ ในยุโรป เรื่องการส่งอาวุธให้แก่ยูเครน

...

โปแลนด์หยุดส่งอาวุธให้ยูเครน

เมื่อวันพุธที่ 20 ก.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี มาเตอุซ โมราเวียชคี แห่งประเทศโปแลนด์ ประกาศอย่างตรงไปตรงมาในแถลงการณ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่า “เราจะไม่ส่งอาวุธให้แก่ยูเครนแล้ว เพราะตอนนี้เรากำลังติดอาวุธให้โปแลนด์”

นายโมราเวียชคี กล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ด้วยว่า ตอนโปแลนด์จะมุ่งเน้นจัดหาอาวุธที่ทันสมัยที่สุดเพื่อจุดประสงค์ของตัวเองเท่านั้น “หากคุณต้องการป้องกันตนเอง คุณก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างสำหรับใช้ป้องกันตนเอง” ผู้นำโปแลนด์กล่าวสำทับ

นี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของโปแลนด์ หลังจากเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา พวกเขาเป็นชาติสมาชิกนาโตแห่งแรก ที่ส่งเครื่องบินรบไอพ่นให้แก่ยูเครน ขณะที่สหรัฐฯ ผู้เป็นหัวหอกเบอร์ 1 เรื่องการช่วยเหลือรัฐบาลเคียฟ เพิ่งตกลงเมื่อเดือนก่อนว่าจะอนุมัติส่งมอบเครื่องบินรบ F-16 ให้ยูเครนในระหว่างการฝึกฝนนักบินยูเครนเสร็จสิ้น

ก่อนหน้านั้น โปแลนด์ยังส่งรถถังยุคโซเวียตกว่า 200 คันให้แก่ยูเครน และยุทโธปกรณ์กับเสบียงส่วนใหญ่จากชาติตะวันตกก็ถูกส่งถึงยูเครนผ่านดินแดนของโปแลนด์ แต่ในวันพฤหัสบดี นายปิโอเตอร์ มุลเลอร์ โฆษกรัฐบาลโปแลนด์ยืนยันว่า ตอนนี้พวกเขาทำแค่ส่งเสบียงกับอาวุธและเครื่องกระสุนให้ยูเครนตามการตกลง ที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลวอร์ซอจะตัดสินใจหยุดการส่งอาวุธเท่านั้น

นายมุลเลอร์ย้ำว่า ยูเครนมีถ้อยแถลงกับท่าทีทางการทูตที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างสิ้นเชิงหลายครั้ง และโปแลนด์ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้

ฝ่ายยูเครนพยายามสมานรอยร้าวในวันพฤหัสบดี โดยรัฐมนตรีกระทรวงไร่นาและที่ดิน ระบุว่า เขาได้พูดคุยกับรัฐมนตรีของโปแลนด์แล้ว และออกแถลงการณ์ระบุว่า ทั้งคู่หารือกันเรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับเรื่องข้อเสนอของยูเครนเพื่อแก้ไขมัน และตกลงจะหาทางออกที่พิจารณาผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ

พวกเขายังตกลงกันเรื่องการจัดตั้งระบบซื้อขายธัญพืชกับสโลวาเกีย ที่อาจทำให้การแบนนำเข้าธัญพืชจากยูเครนถูกยกเลิกได้ด้วย

ภาพเมื่อ 20 ก.ย. 2566 ธัญพืชของยูเครนจำนวนมากยังคงติดค้างอยู่ที่สถานีรถไฟโดโนฮัสก์ บริเวณชายแดนยูเครน-โปแลนด์ เนื่องจากฝ่ายหลังห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครน
ภาพเมื่อ 20 ก.ย. 2566 ธัญพืชของยูเครนจำนวนมากยังคงติดค้างอยู่ที่สถานีรถไฟโดโนฮัสก์ บริเวณชายแดนยูเครน-โปแลนด์ เนื่องจากฝ่ายหลังห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครน

ชนวนเหตุ ห้ามนำเข้าธัญพืช

เมื่อช่วงต้นปี 2566 หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการห้ามนำเข้าธัญพืชจากยูเครน เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของเกษตรกรในประเทศของตัวเอง ที่กังวลว่าผลผลิตของพวกเขาจะถูกธัญพืชของยูเครน ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก ขายตัดราคา และความตึงเครียดกับยูเครนก็สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน สหภาพยุโรปประกาศเผยระงับการห้ามนำเข้าธัญพืชดังกล่าว แต่มีชาติสมาชิก 3 ประเทศได้แก่ โปแลนด์, ฮังการี และสโลวาเกีย ยืนยันจะฝืนมติและแบนธัญพืชต่อไป ทำให้เกิดการประท้วงจากฝ่ายยูเครน และในสัปดาห์นี้ รัฐบาลเคียฟก็ได้ยื่นฟ้องร้องทั้ง 3 ประเทศในเรื่องปัญหานี้

ที่ผ่านมา ยูเครนมักถูกเรียกว่า “อู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป” เนื่องจากผลิตธัญพืชได้ปริมาณมาก แต่การปิดกั้นท่าเรือแถบทะเลดำของรัสเซียหลังเปิดฉากสงครามในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ยูเครนส่งออกผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่ได้ จนเกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารโลก

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปพยายามหาแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า “เส้นทางสามัคคี” (solidarity lanes) ในเดือนพฤษภาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้การส่งออกธัญพืชของยูเครน ด้วยการยกเลิกภาษีนำเข้าและการจำกัดโควตาทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ทำให้ให้ธัญพืชราคาถูกของยูเครนไหลไปทั่วทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม ธัญพืชที่ราคาถูกกว่าปกติกลับส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรท้องถิ่นในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในโปแลนด์ที่เกิดการประท้วงของกลุ่มชาวไร่ชาวนาในเดือนพฤษภาคม ทำให้ความตึงเครียดระหว่างโปแลนด์กับยูเครนสะสมมาเรื่อยๆ จนปะทุอีกครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากทั้ง 3 ประเทศยืนยันไม่ยกเลิกการแบนนำเข้า

สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อ โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ตำหนิทั้ง 3 ประเทศกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์กเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยระบุว่า “น่าตกใจที่เห็นบางประเทศในยุโรป บางประเทศที่เป็นเพื่อนของเราในยุโรป แสดงความเห็นหนึ่งเดียวบนเวทีการเมือง สร้างเรื่องเขย่าขวัญจากธัญพืช”

เซเลนสกีบอกอีกว่า ประเทศที่เกี่ยวข้องอาจกำลังเล่นตามบทบาทของตัวเอง แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พวกเขากำลังช่วยจัดฉากให้แก่นักแสดงมอสโก ทำให้ฝ่ายโปแลนด์ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ทันที และกระทรวงต่างประเทศก็เรียกตัวเอกอัครราชทูตยูเครนเข้าพบ เพื่อแสดงการประท้วงอย่างรุนแรง

...

มาเตอุซ โมราเวียชคี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์
มาเตอุซ โมราเวียชคี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์

การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา

การที่โปแลนด์เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือยูเครนในสงครามครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลประชานิยมของพวกเขาได้รับการยกย่องอย่างมากจากชาติยุโรป และทำให้พวกเขากลายเป็นตัวละครสำคัญของฝ่ายชาติตะวันตกในการตอบโต้การรุกรานของรัสเซีย

โปแลนด์ยังรับผู้อพยพชาวยูเครนเข้าไปในประเทศมากกว่า 1.5 ล้านคน และให้อีก 15 ล้านคนเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหนีจากการต่อสู้ พวกเขากับยูเครนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับท่าทีของมอสโกมานานหลายสิบปีแล้ว และวอร์ซอก็เตือนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรื่องหลุมพรางของการซื้อพลังงานจากรัสเซีย

แต่ความตึงเครียดกลับเพิ่มพูนขึ้นในช่วงไม่กี่เดินที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการนำเข้าธัญพืชเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกตั้งใหญ่ของโปแลนด์ที่กำลังจะมาถึงด้วย

พรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) พรรครัฐบาลฝ่ายประชานิยมของโปแลนด์ กำลังเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค. นี้ แต่โพลสำรวจความคิดเห็นกลับบอกว่า พวกเขาอาจสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ฐานเสียงที่แข็งแกร่งของพวกเขาเอง อย่างชนบททางตะวันออกของประเทศ ที่การเกษตรเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ

PiS กำลังสูญเสียฐานเสียงให้แก่พรรคสมาพันธรัฐ (Confederation party) พรรคฝ่ายขวาจัดที่หาเสียงโดยต่อต้านเรื่องการเสียงบประมาณของประเทศไปกับการช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน และโจมตีรัฐบาลว่า ให้ความสำคัญกับยูเครนมากกว่าชาวโปแลนด์ไปเสียแล้ว

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ PiS จึงลดการสนับสนุนยูเครนลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น เช่น ในเดือนสิงหาคม วอร์ซอเรียกตัวเอกอัครราชทูตยูเครนเข้าพบ หลังจากที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของโปแลนด์กล่าวหาเคียฟว่า กำลังเนรคุณโปแลนด์ที่ช่วยเหลือเรื่องการส่งออกธัญพืชของพวกเขา

...

รถถังเลพเพิร์ด 2 ของเยอรมนีที่ส่งให้ยูเครน
รถถังเลพเพิร์ด 2 ของเยอรมนีที่ส่งให้ยูเครน

หวั่นเป็นโดมิโน่ลามทั่วยุโรป

นักวิเคราะห์มองว่า หากยังหาทางแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ เคียฟอาจต้องกังวลว่า การตัดสินใจหยุดส่งอาวุธของโปแลนด์อาจกระจายไปทั่วยุโรป

อย่างที่ระบุไปข้างต้น โปแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการส่งอาวุธให้ยูเครนมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของสงคราม และพยายามผลักดันชาติอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ ให้ร่วมมือกับพวกเขา

เมื่อเดือนมกราคม ตอนที่เยอรมนีกำลังคิดหนักว่าจะส่งรถถัง เลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครนดีหรือไม่ โปแลนด์ก็ดำเนินการส่งรถถังให้เคียฟก่อนเป็นตัวอย่าง จนในที่สุดเยอรมนีก็ยอมตกลง และหลายชาติในยุโรปก็เริ่มทำตาม

รัฐบาลวอร์ซอยังออกมาพูดอย่างเปิดเผย เรื่องความต้องการของพวกเขาที่จะทำยานรบไฮ-เทคไปยังแนวหน้าการปะทะในยูเครน โดยยืนยันว่าพวกเขาจะทำโดยไม่สนว่าชาติอื่นๆ ในยุโรปจะเอาด้วยหรือไม่

ความกระตือรือร้นของโปแลนด์มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพวกเขากังวลว่า เป้าหมายต่อไปของรัสเซียถัดจากยูเครนจะเป็นพวกเขาเอง แต่ความกังวลนั้นหดหายไปเรื่อยๆ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากกองทัพรัสเซียยังคงติดแหง็กอยู่ในภาคตะวันออกของยูเครน และกำลังขาดแคลนอย่างหนักทั้งในด้านกำลังพลและแม่ทัพ ความเป็นไปได้ที่มอสโกจะโจมตีชาตินาโตอย่างโปแลนด์ จึงเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของโปแลนด์อาจทำให้ยูเครนและชาติพันธมิตรของพวกเขาต้องกังวล เรื่องการส่งอาวุธให้กองทัพเคียฟในอนาคต ชาติยุโรปที่ยังคงลังเลอยู่อาจรู้สึกกดดันน้อยลงที่จะบริจาคอาวุธ จนกลายเป็นโดมิโน่เอฟเฟกต์ให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเจริญรอยตามโปแลนด์ก็เป็นได้





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnbbc

...