ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนประชากรเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์เด็กเกิดน้อยในประเทศไทย

หากแต่หลายประเทศในโลกก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน อาทิ เกาหลีใต้ ที่มีการรายงานข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลี ว่า ในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่ทั้งสิ้น 249,000 คน ลดลง 4.4% จากปี 2564 ที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ อัตราการเจริญพันธุ์ของสตรีเกาหลีใต้ในปี 2565 อยู่ที่ 0.78 ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บบันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 และเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้วที่อัตราเจริญพันธุ์ไม่ถึง 1 คน ทั้งที่ควรจะไม่ต่ำกว่า 2.1 เพื่อรักษาจำนวนประชากรไว้ทรงตัวที่ 52 ล้านคนในปัจจุบัน

ขณะที่ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีรายงานว่า จำนวนประชากรจีนในปี 2565 ปรับตัวลดลงเหลือ 1,411 ล้านคนโดยประมาณ ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี ถึงขนาดที่มีการประมาณการว่า จีนอาจเสียแชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย

...

ปี 2563 สำนักข่าวบีบีซีรายงานอัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกว่า จะลดลงเหลือเพียง 1.7 คน ในปี 2643 นั่นหมายถึง เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 คนจำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง ส่งผลให้ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคนในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2643 ในที่สุด

ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราการเจริญพันธุ์ปรับลดลงจนประชากรอาจจะปรับลดลงมากถึง 50% ในปี 2643 มีมากถึง 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, สเปน, อิตาลี, เกาหลีใต้ รวมทั้งไทย และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้ได้

ซึ่งหมายความว่า วันนี้ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” ไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ แต่เป็นปัญหาของโลก ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะเมื่อจำนวนประชากรสูงอายุมีมากกว่าวัยหนุ่มสาวและเด็กที่เกิดใหม่

สาเหตุที่เด็กเกิดน้อยมาจากหลายปัจจัย ทั้งการที่คนรุ่นใหม่มองว่าการมีบุตรทำให้เสียโอกาส ในการทำงานและท่องเที่ยว หรือกรณีคู่แต่งงานที่ชะลอหรือตัดสินใจไม่มีบุตร หรือประสบปัญหามีบุตรยาก และยังไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และสภาพสังคมปัจจุบันไม่เอื้อ อำนวยด้านความปลอดภัย

ปัญหาการเกิดที่ลดลงจะส่งผลให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยแรงงานน้อยลง ทำให้ประชากรในวัยทำงานต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งเลี้ยงตัวเองและยังต้องดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมๆกัน

ในหลายประเทศจึงพบปัญหาของการขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอกับงบประมาณในการบริหารประเทศ รวมไปถึงกองทุนสวัสดิการต่างๆที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ opendata.nesdc.go.th ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ข้อมูลจากกรมการปกครอง ปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ 5.4 แสนคน ซึ่งมีอัตราการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี สวนทางจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2564 มีผู้สูงอายุสูงถึง 121 ล้านคน

...

ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้วิดีโอคอลชี้แจงถึงนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงช่วงหนึ่งว่า

“ใน 12-13 เรื่องที่ได้นำเสนอและจะประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ปัญหาเด็กแรกเกิด ปัญหาการดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะการให้นมบุตรอย่างน้อยตั้งแต่ 0-6 เดือน ซึ่งปัญหาที่พบคือ โครงสร้างประชากรของคนไทยขณะนี้เกิดการบิดเบี้ยว ประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเกิดที่เหมาะสมคือ 2.1 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราเกิดอยู่ที่ 1.6 คนต่อประชากร 100,000 คน หมายความว่าใน 1 ปีมีจำนวนการเกิดที่น้อยกว่า 50,000-60,000 คน ดังนั้น จากความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย ทำให้คนไทยไม่ยอมมีบุตร โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาที่ดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ จึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาและการแข่งขันระดับประเทศ หากไม่เพิ่มฐานประชากร ในฐานะกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ จึงอยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ” รมว.สาธารณสุขย้ำ

ความท้าทายต่อการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในชาติ โดยเฉพาะวัยเจริญพันธุ์ ที่ในขณะนี้การมีบุตรสำหรับคน Gen X และ Y กลายเป็นเป้าหมายในชีวิตลำดับท้าย ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายการมีบุตรอาจจะต้องศึกษานโยบายในประเทศ ที่เคยมีการกำหนดนโยบายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน และญี่ปุ่น อีกส่วนที่ท้าทายมาก คือ การคลังของประเทศที่จัดเก็บภาษีรายได้น้อยลงเนื่องจากวัยแรงงานในอนาคตลดลง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม

...