16 กันยายน 2023 เรเจป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี พูดก่อนเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 78 ว่า ตุรกียื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการมานานถึง 24 ปี เจรจาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ความฝันที่จะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็ไม่เคยบรรลุ พวกสหภาพยุโรปอ้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อ้างการเคารพหลักนิติธรรมของตุรกี ใครที่ติดตามความพยายามของตุรกีในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ก็คงจะรู้สึกเหมือนผู้เขียนเปิดฟ้าส่องโลก ว่าสหภาพยุโรปไม่ค่อยแฟร์กับตุรกี

พวกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปจะกลัวพวกอาณาจักรเก่าๆ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เช่น อาณาจักรเมโสโปเตเมีย จีน เปอร์เซีย อินเดีย หรือแม้แต่จักรวรรดิออตโตมันที่เรารู้จักกันในนามจักรวรรดิตุรกีซึ่งเป็นจักรวรรดิอิสลามที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุด ครอบคลุมดินแดนถึง 3 ทวีป ทั้งเอเชียตะวันตก ยุโรปตะวันออก และแอฟริกาเหนือ อาณาจักรออตโตมันตั้งเมื่อ ค.ศ.1299 และสิ้นสุดเมื่อ ค.ศ.1922 เป็นเวลานานถึง 623 ปี ที่ออตโตมันยืนหนึ่งในเจ้าโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันก็สิ้นสุดลง

ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของจักรวรรดิออตโตมันยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกฝรั่งมังค่า ตุรกีเหมือนเรือที่จอดอยู่ในโคลนที่น้ำลง น้ำขึ้นเมื่อใด เรือตุรกีก็จะลอยได้เมื่อนั้น ลอยได้แล้วก็ออกไปฟาดฟันกับประเทศต่างๆได้อีก

ใครที่เรียนประวัติศาสตร์ยุโรปอย่างลึกซึ้งก็จะมีมุมมองต่อการปฏิเสธหรือการให้ตุรกีชะลอการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่ไม่เหมือนกับคนที่เสพข่าวพื้นๆทั่วไป ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มีภูมิหลังนับถือศาสนาคริสต์ ตุรกีเป็นประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สมัยสุลต่านบาเยซิตที่ 1 กองทัพออตโตมันของพวกมุสลิมชนะกองทัพครูเสดในการสู้รบที่นิโคโปล สมัยสุลต่านมูรัตที่ 2 กองทัพออตโตมันก็รบชนะกองทัพครูเสดของชาวคริสต์ที่วาร์นา ทุกครั้งที่มีโอกาส พวกออตโตมันรบชนะหมดล่ะครับ แม้แต่กองทัพซาฟาวิดอันยิ่งใหญ่ก็แพ้กองทัพออตโตมันที่ซัลดิราน ยุคสุลต่านสุไลมานที่ 1 ออตโตมันยึดเบลเกรด เกาะโรดส์ ชนะฮังการี ยึดไซปรัส

...

ผู้ที่แอบดีใจลึกๆกับการที่ตุรกีไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ก็น่าจะเป็นรัสเซีย ตุรกีกับรัสเซียมีสงครามกันมาหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ รัสเซียเองก็ไม่ได้ไว้ใจตุรกีอย่างเต็มร้อย ตุรกีเองก็ดิ้นรนที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของตนเองขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ ระยะหลังกลุ่มที่มีอำนาจพยายามสร้างอิทธิพลของตุรกีผ่านระบบการศึกษา ซึ่งผมเรียนไปหลายครั้งแล้ว ว่าแม้แต่ในประเทศไทยก็เคยมีกลุ่มของมาร์มาราของตุรกีมาสร้างโรงเรียนที่เชียงใหม่ สายไหม ประเวศ และหนองแขม แต่ความพยายามในการรื้อฟื้นอิทธิพลของตุรกีก็ล้มไปเมื่อ ค.ศ.2016 เมื่อมีการปฏิวัติล้มรัฐบาลเออร์โดกัน แต่ประสบความล้มเหลว

โลกเรามีสมาชิกที่เป็นชาติรัฐประมาณ 200 ประเทศ ทุกประเทศต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ประเทศและประชาชนของตนอยู่รอดชาติรัฐต่างๆ ก็มีนโยบายสนับสนุนกันบ้าง ต่อต้านกันบ้าง หรือบางครั้งต่อหน้าก็สนับสนุนกัน ลับหลังก็แทงกันทำลายกัน องค์กรหลักในยุโรปมี 2 องค์กรคือนาโตที่ร่วมกับสหรัฐฯและแคนาดา และอียูที่เป็นการรวมกลุ่มกันค่อนข้างแน่นแฟ้นของสหภาพยุโรป ตุรกีเป็นสมาชิกนาโต แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ใครที่ได้ฟังเออร์โดกันพูดก่อนที่จะไปประชุมสมัชชาใหญ่ที่นิวยอร์ก ก็คงจะเห็นใจประธานาธิบดีเออร์โดกัน “อียูกำลังตีตัวออกห่างจากตุรกี” เออร์โดกันพูด “ตุรกีเองก็มีการประเมินความเคลื่อนไหว และถ้ามีความจำเป็น เราก็พร้อมที่จะแยกทางกับอียูเช่นกัน”

หากอียูทิ้งตุรกี และตุรกีก็ไม่ได้สนอียู ตุรกีก็ต้องมาสร้างอาณาจักรของตัวเองใหม่ หรืออาจต้องพาตัวเองไปใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม