• สำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากน้ำท่วมลิเบีย อยู่ที่ประมาณ 11,300 ศพ และยอดยังไม่ได้ทำการสรุปตัวเลขเนื่องจากทีมกู้ภัยยังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังมีผู้สูญหายอย่างเป็นทางการมากกว่า 10,000 คน
  • นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา กล่าวว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้อีก มากถึง 20,000 ศพหลังจากที่ชุมชนทั้งหมดถูกกระแสน้ำซัดลงสู่ทะเล โดยมวลน้ำที่ทะลักเข้าสู่เมืองเดอร์นา มีความรุนแรงราวกับคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมา
  • ความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือจากภัยธรรมชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เกิดจากปัญหาการคอร์รัปชัน การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ไม่ดี และถูกละเลย ตลอดจนการสู้รบทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายปี

ในขณะที่ปฏิบัติการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกซัดเกยตื้นบนชายฝั่งของเมืองเดอร์นา เมืองท่าทางตะวันออกของลิเบียยังคงดำเนินต่อไป และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลของสภาเสี้ยววงเดือนแดงในลิเบีย ระบุว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 11,300 ศพ หลังจากพายุแดเนียล พัดเข้าโจมตีเมืองทางตะวันออกของประเทศ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เขื่อน 2 แห่งพังทลาย เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลทะลักออกมาเข้าสู่แม่น้ำ และเมืองเดอร์นา

นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา กล่าวว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้อีก มากถึง 20,000 ศพหลังจากที่ชุมชนทั้งหมดถูกกระแสน้ำซัดลงสู่ทะเล โดยมวลน้ำที่ทะลักเข้าสู่เมืองเดอร์นา มีความรุนแรงราวกับคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมา สำหรับความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือจากภัยธรรมชาติ  แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหาการคอร์รัปชัน การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ไม่ดี และถูกละเลย ตลอดจนการสู้รบทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายปี โดยที่ลิเบียถูกแบ่งแยกระหว่างรัฐบาลที่เป็นคู่แข่งกัน 2 ฝ่าย ได้ทำให้ลิเบียไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ อย่างเช่นพายุเฮอริเคนแดเนียล

...

คลอเดีย กัซซินี นักวิเคราะห์อาวุโสของ International Crisis Group ประจำลิเบีย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลิเบียอยู่ในสภาวะความวุ่นวาย มีการทะเลาะแย่งชิงกันเรื่องอำนาจการปกครองและการจัดสรรเงินทุน ขณะที่งบประมาณในการพัฒนาประเทศก็ยังคงขาดแคลน เงินทุนสำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานลดลง ไม่มีการจัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการระยะยาว

นักวิเคราะห์ยังกล่าวว่า ไม่มีรัฐบาลใดในทั้งสองรัฐบาลที่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะจัดทำแผนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมการมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน

โดยกองกำลังทหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีฐานอยู่ในกรุงตริโปลีทางตะวันตก ให้การสนับสนุนรัฐบาลคู่แข่งของลิเบีย ส่วนอีกรัฐบาลที่อยู่ในเมืองเบงกาซี ทางตะวันออก นั้นได้รับการสนับสนุนโดยรัฐสภาของประเทศ ทั้งสองรัฐบาลได้ต่อสู้กันหลายครั้งตั้งแต่ปี 2557 และฝ่ายบริหารทั้งสองรัฐบาล ล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามแผนในปี 2564 ตัวอย่างที่มีให้เห็นในปัญหาการขาดการลงทุนสาธารณะคือเขื่อนในเมืองเดอร์นา ซึ่งขาดงบประมาณซ่อมบำรุงจนนำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่

นายอาห์เหม็ด มาดรูด รองนายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า เขื่อนทั้งสองแห่งไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ปี 2545 นั่นหมายความว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการมายาวนานของลิเบีย และฝ่ายบริหารที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาถูกโค่นล้มในการปฏิวัติ ปี 2554 ล้วนแต่ล้มเหลวในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

เมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอมาร์ อัล มุกห์ตาร์ เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหา เตือนว่าเขื่อนทั้งสองแห่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน โดยชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความเสี่ยงน้ำท่วมแต่นับจากนั้นมาก็ยังไม่เคยมีการดำเนินการซ่อมแซมดูแลใดๆ

วงจรแห่งความรุนแรง


หายนะที่เกิดจากน้ำท่วมในลิเบียครั้งนี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดสำหรับเมืองเดอร์นา เมืองที่มีประชากรประมาณ 90,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของประเทศ ก่อนที่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ จะฉวยโอกาสจากการไม่มีรัฐที่ทำงานได้เพื่อยึดเมืองนี้ในปี 2557 จนกระทั่งพวกเขาถูกขับออกไปในปีถัดมา

...

จากนั้นในช่วง 3 ปีต่อมา นายพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจหลักในภาคตะวันออกของลิเบีย ได้เข้าควบคุมเมืองเดอร์นา ซึ่งยังคงเป็นดินแดนกลุ่มสุดท้ายในภาคตะวันออกที่ปฏิเสธการปกครองของเขา หลังจากการปิดล้อมอย่างโหดร้ายเป็นเวลา 2 ปี เมืองนี้ถูกทำลายลงด้วยการทิ้งระเบิดอย่างเข้มข้นและการสู้รบภาคพื้นดินอย่างดุเดือด ซึ่งวงจรของความรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้กับลิเบีย โดยทางการไม่ได้ลงทุนในโครงการฟื้นฟูสำคัญใดๆ

ฮานี เชนนิบ ประธานสภาแห่งชาติว่าด้วยความสัมพันธ์ลิเบียของสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปเยือนเมืองเดอร์มาหลายครั้งกล่าวว่า โรงพยาบาลแห่งเดียวที่เปิดดำเนินการในเมืองเดอร์นาในปัจจุบันคือโรงพยาบาลห้องเช่า ที่มี 5 ห้องนอน โดยเขากล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 42 ปีแล้ว โดยเกิดความแตกแยกและความวุ่นวายทางการเมืองนับตั้งแต่สมัยของกัดดาฟี โดยประชาชนได้เห็นว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรีทุกคนจะมาเยี่ยมเยือนเมืองเดอร์นา มีคำแถลงเกี่ยวกับการสนับสนุนเมืองแห่งนี้ แล้วก็เพิกเฉยต่อเรื่องนี้โดยสิ้นเชิงไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

...

นายเชนนิบกล่าวว่า การกัดเซาะของเขื่อนในเมืองเดอร์นา ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการรายงาน ออกคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงในวารสารวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาแต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดสนใจเรื่องนี้ เขายังกล่าวว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เปรียบเป็น "ฟางเส้นเดียวที่ทำให้หลังอูฐหัก"

คอร์รัปชันกับราคาแพงที่ต้องจ่าย


หลังเกิดโศกนาฏกรรมน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมืองเดอร์นา หลายคนต่างออกมาตำหนิหน่วยงานท้องถิ่น ว่าประมาทเลินเล่อในการวางแผนรับมือพายุลูกนี้ โดยในวันเสาร์ หนึ่งวันก่อนพายุจะมาถึง สภาเทศบาลเมืองเดอร์นาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ประกาศเคอร์ฟิว พร้อมขอให้ประชาชนอพยพเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่ง ต่อมาในวันจันทร์ สถานการณ์นี้ถูกเรียกว่าเป็น "หายนะ" พร้อมร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเร่งด่วน

นายอับดุลเยนาม อัล ไกธี นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา ให้สัมภาษณ์สื่ออัล อะราบิยา เมื่อวันพุธ ที่ผ่านมา โดยปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของทางการ โดยกล่าวว่าหน่วยงานท้องถิ่นได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันทั้งหมด ที่จำเป็น และแจ้งให้คนในพื้นที่ทราบ แต่หลายคนไม่เห็นด้วย

...

ทางด้านนายอนัส เอล โกมาติ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันซาเด็ก กล่าวว่า การเพิกเฉยของรัฐบาล แม้จะเห็นได้ว่ามีภัยคุกคามที่ชัดเจนเกิดขึ้น ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคนแทนที่ก่อนหน้านี้ควรจะต้องแลกด้วยวัสดุก่อสร้างและปูนซีเมนต์

อย่างไรก็ตาม นายเอล โกมาติ กล่าวว่า ปัญหามีมากกว่าการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการคอร์รัปชันมานานหลายปีและการรื้อโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ โดยการละเลยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของลิเบียและการบำรุงรักษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขื่อนแตก และเมืองจมอยู่ใต้น้ำ เขากล่าวเสริมว่า การทุจริตและการจัดการทางการเงินที่ผิดพลาดเป็นสาเหตุเบื้องหลังความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างปัญหาให้กับลิเบียมานานหลายทศวรรษ และระบอบการปกครองที่ควบคุมทุกอย่างนั้นยิ่งน่าตำหนิมากกว่า.