ญี่ปุ่นเสร็จสิ้นการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะรอบแรกแล้ว โดยปล่อยไปทั้งหมด 7,800 ตัน และจะเริ่มปล่อยน้ำรอบต่อไปภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี โฮลดิ้ง หรือ เทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินกิจการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยในวันที่ 11 ก.ย. 2566 ว่า พวกเขาปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลรอบแรกเสร็จแล้ว

 เทปโกเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหาในการจัดเก็บ เนื่องจากน้ำดังกล่าวสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554 จนเกิดหายนะนิวเคลียร์ครั้งใหญ่

เทปโกระบุว่า การปล่อยน้ำรอบแรกระยะเวลา 17 วัน พวกเขาปล่อยน้ำไปได้ 7,800 ตัน จากแทงก์เก็บ 10 แทงก์ โดยพวกเขาจะดำเนินการตรวจสอบและทำความสะอาดอุปกรร์ ก่อนจะเริ่มปล่อยน้ำรอบที่ 2 อีก 7,800 ตันภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวยการปล่อยน้ำปนเปื้อนจะใช้เวลายาวนานหลายสิบปี เนื่องจากเทปโกยังเหลือน้ำปนเปื้อนที่ต้องปล่อยถึง 1.34 ล้านตันซึ่งเก็บอยู่ในแทงก์น้ำนับพันแทงก์ที่โรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากชาวประมงและประเทศเพื่อนบ้าน

จีนประกาศห้ามน้ำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นทันทีที่มีการปล่อยน้ำปนเปื้อน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออก และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้มาตรการช่วยเหลือฉุกเฉิน

ด้านนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น กล่าวที่การประชุมผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการประชุม G20 เมื่อสัปดาห์ก่อน เน้นย้ำว่า กระบวนการปล่อยน้ำปนเปื้อนมีความปลอดภัยและความโปร่งใสจนได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ และเรียกร้องให้จีนยกเลิกการแบนอาหารทะเลในทันที

...

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นอ้างด้วยว่า ตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บจากน้ำทะเลและปลานับตั้งแต่เริ่มการปล่อยน้ำปนเปื้อน พบว่ามีระดับการปนเปื้อนต่ำกว่าขีดจำกัดด้านความปลอดภัยมาก

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cna