สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 43 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6 ก.ย. โดยระบุว่า ที่ประชุมชาติอาเซียนได้เห็นพ้องกันเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาและความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกมาจัดการ เพื่อดำเนินตามแผนการสันติภาพเมียนมา 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการหาทางออกผ่านการเจรจาที่ครอบคลุมทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนตกลงที่จะจัดตั้งกลไกการเจรจากับเมียนมาแบบเดียวกับที่เคยใช้ในยุคสงครามกลางเมืองกัมพูชา (ยุคเขมรแดง) คือการตั้งระบบ “ทรอยกา” มอบหมายให้รัฐบาลประเทศสมาชิก 3 ชาติ ที่ดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนปัจจุบัน ประธานหมุนเวียนปีก่อนหน้า และประธานหมุนเวียนในปีถัดไป เป็นตัวยืนพื้นที่จัดเจรจากับรัฐบาลเมียนมา หรือกลุ่มการเมืองอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม พร้อมเปิดทางให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ สามารถจัดการเจรจากับเมียนมาได้โดยตรง เพื่อผลักดันแผนสันติภาพเมียนมา 5 ข้อ

ในกรณีนี้ย่อมหมายความว่า ประเทศตัวหลักที่รับผิดชอบการเจรจากับเมียนมาคือรัฐบาล สปป.ลาว ประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2567 รัฐบาลอินโดนีเซีย ประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2566 และรัฐบาลมาเลเซีย ประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2568 ขณะที่กระทรวงต่างประเทศเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ผ่านสำนักข่าวท้องถิ่นโกลบอล ไลท์ ออฟ เมียนมา หลังจากไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมอาเซียนครั้งนี้ โดยระบุว่า การที่อาเซียนแสดงจุดยืนประณามความรุนแรงในเมียนมาเป็นผลมาจากการฟังความข้างเดียวและเลือกปฏิบัติ

นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนแล้ว อาเซียนยังมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกด้วยเช่นกัน โดยจะมีการหารือกับประเทศหุ้นส่วนเจรจาทั้งออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐฯ แคนาดา ท่ามกลางการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งถูกจับตาว่าจะมีบทบาทในการประชุมที่กรุงจาการ์ตามากน้อยเพียงใด ขณะที่ทางสหรัฐฯถูกนักวิเคราะห์วิพากษ์ วิจารณ์หลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เดินทางมาร่วมการประชุม ส่งนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯมาเป็นตัวแทน พร้อมตั้งคำถามด้วยว่า สหรัฐฯให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงหรือไม่ หรือต้องการหยิบเชอร์รี่ใส่ตะกร้า เลือกมีความสัมพันธ์เฉพาะประเทศที่มีประโยชน์ต่อการกดดันจีน เนื่องด้วยระยะหลังสหรัฐฯเน้นความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซึ่งมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เหมาะสมที่จะเป็นตาข่ายล้อมจีน.

...