ความขัดแย้งในเมียนมากลายเป็น “สงครามสู้รบกันเต็มรูปแบบ” ระหว่างรัฐบาลทหารและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่มีกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) และกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้

ทำให้ตลอด 3 ปีมานี้ “เกิดการปะทะระหว่างทหารเมียนมาและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก” แล้ววิกฤติการเมืองนี้ยังส่งผลต่อสมาชิกอาเซียนต้องแตกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายเรียกร้องให้เมียนมาคืนสู่ประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน และกลุ่มไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

กลายเป็นกระทบต่อบทบาทอาเซียน “ในการแก้วิกฤติการเมืองเมียนมาที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ” ขณะที่ประเทศไทยก็มีพรมแดนติดกัน “จนไม่อาจกำหนดทิศทางท่าทีได้ชัด” เพราะห่วงผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้ข้อมูลว่า

การเมืองหลังรัฐประหารในเมียนมาปี 2564 แตกต่างจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 8-8-88 เพราะครั้งนี้แม้ทหารใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมรุนแรงเพียงใด “นักศึกษาและประชาชน” ก็ไม่มีใครยอมแพ้

เพราะพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพมาหลายปี “ประชาชน” จึงไม่ยอมถอยไปยังจุดเดิมนั้นอีกต่างลุกขึ้นมาต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ “ประชาธิปไตย” ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน PDF ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลทหารมาต่อเนื่อง

...

ทว่าในอดีตแม้ว่า “ชนกลุ่มน้อยจะแตกเป็นหลายกลุ่ม” มีทั้งฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมาและฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้มักมีเป้าหมายทางการเมืองต่างกัน ส่งผลต่อการปกครองไม่เกิดเอกภาพ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 1 กุมภาฯ 2564 “ชนกลุ่มน้อย” ต่างมีแนวคิดตรงกันในการเปลี่ยนเมียนมาให้เป็นสหพันธรัฐ

กลายเป็นจุดสำคัญให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมมือกัน “สู้รบกับรัฐบาลทหาร” เพื่อจะนำไปสู่ชัยชนะในการเปลี่ยนการเมือง การปกครอง เป็นรูปแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

ตามข้อมูลจาก “กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา” ในแง่บริบทพื้นที่ทางการเมือง “ประชาชน” ต่างไม่เห็นด้วยกับกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน “ทหาร และตำรวจหลายนาย” เริ่มไม่ยอมรับคำสั่งผู้บังคับบัญชาใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน จนต้องพากันหนีทัพหนีราชการมากขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลทหารยึดอำนาจการปกครองจากพลเรือนนั้น” กำลังเผชิญความพ่ายแพ้อันมีปัญหาการควบคุมสถานการณ์ และปฏิบัติการที่ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการสู้รบตามชายแดนเมียนมา-ไทย ที่มีการปะทะกันดุเดือดจาก “กองทัพเมียนมา” ใช้อากาศยานเข้าโจมตีใส่กองกำลังต่อต้าน

ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบถูกส่งมารักษาในโรงพยาบาลไทยตามแนวชายแดนกันต่อเนื่อง ส่วนประชาชนเมียนมาก็พากันหนีภัยความไม่สงบมาพักพิงในไทยจำนวนมากเหมือนกัน

เช่นนี้ทำให้เห็นด้วยในข้อเสนอ “ไทยควรเปิดระเบียงมนุษยธรรมกรณีการสู้รบรุนแรง” บริเวณชายแดนติดกับเมียนมาตั้งแต่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง เพื่อให้มีงบประมาณ หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสนับสนุนในด้านมนุษยธรรม มิเช่นนั้นเราอาจต้องรับภาระหนักมากพอสมควร

แล้วควรมีบทบาทดั่งสมัย “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ” ที่เคยประสบความสำเร็จในการเจรจาร่วมเขมร 4 ฝ่ายยุติการสู้รบ ด้วยแนวคิดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แม้จะเข้าใจดีว่าไทยต้องรักษาความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน แต่ก็ควรแสดงท่าทีให้เมียนมาคืนสู่ประชาธิปไตยทำควบคู่การส่งเสริมด้านมนุษยธรรมก็ได้

ประเด็นกรณี “ไทยและประชาคมอาเซียน” มีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ทำให้การสร้างเงื่อนไขการเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย อาเซียน กับเมียนมา “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน” ได้นำเสนอแนวทางการทูตแบบพัวพันสร้างสรรค์ไว้

แต่ว่า “รัฐบาลสมาชิกอาเซียน” ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยจึงปรับมาใช้แนวทางความพัวพันอย่างยืดหยุ่นแทนจนปัจจุบันนี้ แต่ดูเหมือนการทูตของไทยในยุครัฐบาล คสช.ก็ไม่ค่อยยึดแนวทางนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลเมียนมาเคารพสิทธิมนุษยชนหยุดใช้กองกำลังปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ทั้งยังสงวนท่าที “การคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา” เพื่อกดดันคืนอำนาจให้ประชาชนจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระยุติธรรมด้วยซ้ำ แล้วไม่เท่านั้นไทยควรมีบทบาทเชิงรุกให้เกิดการเจรจา กลับปรากฏว่า “รัฐบาล คสช.” ไม่ได้สนใจบทบาทนี้ที่จะช่วยรักษาความสงบสันติภาพให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน 2 ฝั่งตามแนวชายแดน

...

“การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจะเป็นผลโดยตรงจากความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากอาเซียน ไทย นานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ” รศ.ดร.อนุสรณ์ว่า

ทว่าการเปลี่ยนผ่าน “ประเทศปกครองอำนาจนิยมเผด็จการเป็นประชาธิปไตย หรือประเทศมีสงครามกลางเมืองเป็นประเทศมีสันติธรรมนั้น” ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน แต่การมีแนวทางพัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ต่อเมียนมาของไทยและอาเซียน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

เริ่มต้นจาก “การหยุดยิงเจรจา” เรื่องนี้ไทยต้องมีบทบาทสำคัญที่เคยทำสำเร็จมา กรณีการเจรจาสันติภาพยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชาปรับเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เพราะการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาสมรรถนะการเมืองการปกครองเป็นสิ่งสมควรต้องมีเงื่อนไขต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ

ด้วยการส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพของระบอบการปกครองต้องมาพร้อมกับการเมืองที่เปิดกว้างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่นนี้ขอเสนอว่า “ประเทศไทย” ควรแสดงบทบาทต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียน เพื่อให้เห็นถึงมาตรฐานความก้าวหน้าบางอย่างที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ด้วยหลัก 8 ข้อ

ประการแรก...แก้ไขรัฐธรรมนูญไทยให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย เนื้อหาใดก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมควรตัดออก  2.ไทยควรเป็นผู้นำเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมาทำฉันทามติอาเซียน 5 ข้อ 3.สนับสนุนยูเอ็นเปลี่ยนเมียนมาสู่ประชาธิปไตย และประเทศอื่นในอาเซียนที่มีปัญหาความเป็นประชาธิปไตย

...

ส่วนข้อ 4.ไทยต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ตกอยู่ในอันตรายหรือหลบหนีจากเมียนมา และร่วมกับอาเซียนเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ และผู้ถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรม  5.เพิ่มแรงกดดันทางการทูตผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข้อ 6.กดดันให้กองทัพเมียนมายุติปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน 7.“รัฐบาลใหม่ของไทย” ควรกวดขันตามแนวชายแดน เพื่อยุติการส่งมอบอาวุธและทรัพยากรอื่นๆที่ถูกใช้เพื่อปราบปรามประชาชน

และข้อ 8. “สร้างเครือข่ายความร่วมมือประชาธิปไตยในอาเซียน” รักษาเอกภาพประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ และสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดสันติธรรมประชาธิปไตยเป็นภูมิภาคที่เคารพต่อสิทธิมีเสถียรภาพ ความมั่นคง สงบสันติ สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน เป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

แต่ด้วยปัญหาอำนาจนิยมแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน “ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ในไทยอาจดูโหดร้ายใช้ความรุนแรงน้อยกว่าเผด็จการทหารเมียนมาเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉลาดกว่า หรือเนียนกว่าหลอกล่อให้ขบวนการประชาธิปไตยแตกแยกลง “การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ รธน.2560” อันบิดเบี้ยวเจตนารมณ์ของประชาชน

สุดท้ายนับแต่นี้ติดตามการเมืองไทยให้ดีเพราะอาจมีประเด็นนำมาสู่การเผชิญหน้าขัดแย้งรอบใหม่ ฉะนั้นเราควรถอดบทเรียนในเมียนมาแล้วช่วยให้ทุกฝ่ายยึดถือการปกครองด้วยความถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมาย

นี่คือสถานการณ์ในเมียนมา “ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป” ที่เป็นความท้าทายให้ผู้นำอาเซียนเข้ามายุติการใช้ความรุนแรงควบคู่กับผลักดันให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการเจรจานำไปสู่สันติภาพ.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม