• 'กาบอง' กลายเป็นประเทศล่าสุดในทวีปแอฟริกาที่เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ ต่อจากไนเจอร์ ที่เพิ่งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจมาสดๆ ร้อนๆ
  • แกนนำทหารก่อรัฐประหารกาบอง ยกเหตุผลยึดอำนาจ เพื่อต้องการล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลัง 'อาลี บองโก' คว้าชัย จะได้ประธานาธิบดีกาบองสมัยที่ 3 อีกทั้งต้องการตัดตอนการสืบทอดอำนาจของตระกูลบองโกที่ปกครองกาบองมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
  • การก่อรัฐประหารในกาบอง จากการยึดอำนาจของกองทัพ นับเป็นครั้งที่ 8 ในทวีปแอฟริกา ช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น แม้จะเกิดเสียงประณามตามมาจากชาติตะวันตกและสหภาพแอฟริกาก็ตาม

‘สาธารณรัฐกาบอง’ ประเทศที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อมีกลุ่มทหารก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ ล้มผลเลือกตั้งประธานาธิบดี และจับกุมประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ วัย 64 ปี ไว้ในบ้านพักที่กรุงลีเบรอวิล เมืองหลวง

ทำให้ กาบอง กลายเป็นประเทศล่าสุดในทวีปแอฟริกาที่เกิดรัฐประหาร ต่อจาก ‘ไนเจอร์’ ซึ่งเพิ่งเกิดรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูมไปเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2566 

บิ๊กทหารกาบอง ประกาศรัฐประหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ  ล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566ให้เป็นโมฆะ
บิ๊กทหารกาบอง ประกาศรัฐประหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566ให้เป็นโมฆะ

...

ก่อรัฐประหาร ล้มผลการเลือกตั้ง ปธน.

ชาวกาบองต้องเผชิญกับการเกิดรัฐประหารในประเทศ โดยคณะนายทหารระดับสูงที่กุมกองทัพ ได้ประกาศยึดอำนาจผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เมื่อ 30 ส.ค. 2566 ล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าประธานาธิบดีอาลี บองโก คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา

กกต.กาบองประกาศว่า ประธานาธิบดีอาลี บองโก ได้คะแนนเสียง ถึง 2 ใน 3 หรือ 64.27% ของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ในขณะที่นายอัลเบิร์ต ออนโด ออสซา คู่แข่งชิงประธานาธิบดีคนสำคัญจากพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนเสียง 30.77% 

ในขณะที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านประณามการได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีอาลี บองโก ครั้งนี้ว่า มาจากการโกง!! นายอัลเบิร์ต ออนโด ออสซา คู่แข่งชิงประธานาธิบดีกาบอง ชี้ว่ามีคูหาเลือกตั้งหลายแห่ง ไม่ปรากฏชื่อของเขาในบัตรลงคะแนน แต่กลับมีผู้ลงสมัครบางคนจากพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านที่ได้ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้ว ยังปรากฏชื่อบนบัตรลงคะแนน

ด้านองค์กรสื่อไร้พรมแดน ระบุว่า สื่อต่างชาติถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศกาบอง เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

ยุบทุกสถาบัน ยุบรัฐสภา ปิดพรมแดน

หลังคณะทหารกาบองออกมาประกาศล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในกาบอง ให้เป็น ‘โมฆะ’ แล้ว ยังประกาศ ‘ยุบสถาบันทั้งหมดของประเทศ ยุบหน่วยงานรัฐบาล รวมทั้งยุบรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และจะปิดพรมแดนกาบอง จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก ก่อนต่อมา ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว อนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพ ออกมานอกบ้านได้ ในเวลา 06.00-18.00 น. เท่านั้น

ประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ อัดคลิปวิดีโอ วิงวอนขอความช่วยเหลือ ขณะถูกคณะทหารควบคุมตัวไว้ในบ้านพัก หลังเกิดการรัฐประหาร
ประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ อัดคลิปวิดีโอ วิงวอนขอความช่วยเหลือ ขณะถูกคณะทหารควบคุมตัวไว้ในบ้านพัก หลังเกิดการรัฐประหาร

...

ทำไมเกิดรัฐประหารในกาบอง?

หนึ่งในทหารระดับสูงของกาบอง 12 นาย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ กาบอง 24 ถึงเหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ว่าเพื่อต้องการล้มผลการเลือกตั้ง และต้องการยุติการสืบทอดอำนาจของตระกูลบองโกที่ดำเนินมายาวนานนับ 55 ปี

เพราะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประชาชนในประเทศกาบอง ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลบองโกมาตั้งแต่ปี 2510 จนตระกูลบองโก ถือเป็นหนึ่งในตระกูลที่สืบทอดอำนาจปกครองประเทศยาวนานมากที่สุดในทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว 

ประธานาธิบดีอาลี บองโก ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกาบองครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2552 สืบต่อจาก นายโอมาร์ บองโก ผู้เป็นบิดา ที่เสียชีวิต หลังปกครองประเทศกาบองมายาวนานถึง 41 ปี โดยนายโอมาร์ บองโก เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศกาบอง มาตั้งแต่ปี 2510 เพียง 7 ปี หลังจากกาบองได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส 

ประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อ 26 ส.ค.2566
ประธานาธิบดีอาลี บองโก ออนดิมบา หรือรู้จักในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ‘อาลี บองโก’ ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อ 26 ส.ค.2566

...

วังวนการเกิดรัฐประหารในแอฟริกา

กาบอง เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมันและโกโก้ แต่ประชากรกว่า 2 ใน 3 จมอยู่กับความยากจน ไม่แตกต่างจากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

หากการก่อรัฐประหารในกาบองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้เป็นการเกิดรัฐประหาร ครั้งที่ 8 ในภูมิภาคตะวันตกและตอนกลางของแอฟริกา ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ต่อจากการเกิดรัฐประหารในประเทศมาลี กินี บูร์กินาฟาโซ ชาด และไนเจอร์

บีบีซีรายงานว่า กาบองซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาจนถึงปี 2503 แต่มีประธานาธิบดีเพียง 3 คนเท่านั้น โดยในยุคของอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ บองโกนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม และได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและการเงิน เพื่อแลกกับความได้เปรียบทางธุรกิจ 

แต่เมื่อมาถึงสมัยที่ นายอาลี บองโก บุตรชายของโอมาร์ บองโกขึ้นเป็นประธานาธิบดีกาบองตั้งแต่ปี 2552 สายสัมพันธ์กับฝรั่งเศสไม่แนบแน่นเหมือนสมัยรุ่นพ่อ และทางการฝรั่งเศสได้เริ่มสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตระกูลบองโก

ทหารกาบองแห่แหน 'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา'  ด้วยความดีใจ หลังได้รับแต่งตั้งจากคณะก่อรัฐประหาร ให้เป็นผู้นำกาบองคนใหม่
ทหารกาบองแห่แหน 'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา' ด้วยความดีใจ หลังได้รับแต่งตั้งจากคณะก่อรัฐประหาร ให้เป็นผู้นำกาบองคนใหม่

...

ประกาศตั้งผู้นำคนใหม่กาบองทันที

หลังการก่อรัฐประหารดำเนินไปโดยราบรื่น สามารถควบคุมตัวประธานาธิบดีอาลี บองโก และครอบครัวไว้ในบ้านพักแล้ว ต่อมาบรรดานายทหารระดับสูงของกาบองที่ร่วมมือกันก่อรัฐประหาร ได้ปิดห้องประชุมและตัดสินใจเลือก 'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา' ผู้บัญชาการหน่วยอารักขาประธานาธิบดี เป็นผู้นำกาบองคนใหม่ทันที โดยจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน

'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา' ผู้บัญชาการหน่วยอารักขาประธานาธิบดี  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำกาบองคนใหม่ทันที
'พลเอกบริซ โอลิกี เอ็นเกมา' ผู้บัญชาการหน่วยอารักขาประธานาธิบดี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำกาบองคนใหม่ทันที

เพราะสำหรับปฏิกิริยาของชาวกาบองส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้คัดค้านอะไรต่อการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ กลับพากันออกมาฉลองแสดงความยินดีที่อาลี บองโก สิ้นอำนาจ แม้บรรดาชาติตะวันตกและแอฟริกาจะออกมาประณามการก่อรัฐประหารก็ตาม

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา :CNNAljazeeraBBC