ทหารกาบองปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ พร้อมประกาศยึดอำนาจรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยกเลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และยุบสถาบันของรัฐทั้งหมด

นายทหารอาวุโสชาวกาบองกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวทางโทรทัศน์แห่งชาติในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธ (30 ส.ค.) และประกาศการเข้ายึดอำนาจ ไม่กี่นาทีหลังจากที่สำนักงานการเลือกตั้งของประเทศประกาศว่า ประธานาธิบดี อาลี บองโก ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 3

ในการปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์กาบอง 24 กลุ่มทหารกล่าวว่า พวกเขาเป็นตัวแทนของกองกำลังความมั่นคงและการป้องกันทั้งหมดในกาบอง และกล่าวว่าผลการเลือกตั้งถูกยกเลิก ปิดพรมแดนทั้งหมดจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม และประกาศยุบสถาบันของรัฐทั้งหมด ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์รายหนึ่งกล่าวหลังการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ว่า ได้ยินเสียงปืนดังสนั่นในกรุงลีเบรอวิล

กาบอง ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การโอเปก ยังไม่มีความเห็นต่อการประกาศครั้งนี้ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่านายบองโกอยู่ที่ใด หลังจากมีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายในที่สาธารณะ ในขณะที่เขาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์

เจ้าหน้าที่ระบุในแถลงการณ์ว่า "ในนามของชาวกาบอง เราได้ตัดสินใจที่จะปกป้องสันติภาพด้วยการยุติระบอบการปกครองในปัจจุบัน" ส่วนบรรดาเหล่าทหารได้แนะนำตัวเองในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านและฟื้นฟูสถาบัน โดยสถาบันของรัฐที่พวกเขาประกาศยุบ ได้แก่ รัฐบาล วุฒิสภา รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง

หากประสบความสำเร็จ การรัฐประหารครั้งนี้จะถือเป็นครั้งที่ 8 ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง โดยนับตั้งแต่ปี 2563 การรัฐประหารในประเทศมาลี กินี บูร์กินาฟาโซ ชาด และไนเจอร์ ได้บ่อนทำลายความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

...

คณะกรรมการการเลือกตั้งกาบองกล่าวก่อนหน้านี้ว่า นายบองโกชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 64.27% และนายอัลเบิร์ต ออนโด ออสซา ผู้ท้าชิงหลักของเขา ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยคะแนนเสียง 30.77%

บองโก วัย 64 ปี ซึ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากโอมาร์ พ่อของเขาในปี 2552 ได้ชิงชัยกับผู้ท้าชิง 18 คน โดย 6 คนในจำนวนนั้นสนับสนุนนายออนโด ออสซา

รัฐบาลกล่าวว่า การบล็อกอินเทอร์เน็ตและการประกาศเคอร์ฟิวมีความจำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม และเพื่อปกป้องความปลอดภัยของสาธารณะ การชนะการเลือกตั้งอย่างมีข้อโต้แย้งของนายบองโกในปี 2559 ทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรง จนทำให้อาคารรัฐสภาถูกไฟไหม้

ทีมงานของเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งจากนายออนโด ออสซา และพันธมิตรฝ่ายค้านของเขา หลังจากการลงคะแนนเสียงประสบปัญหา เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งหลายแห่งเปิดล่าช้าไปหลายชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีรายงานถึงความผิดปกติอื่นๆ ที่รวมถึงบัตรลงคะแนนสำหรับผู้สมัครไม่ได้นำไปใช้อย่างถูกต้องในบางพื้นที่ 

ด้านสหภาพยุโรปไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ผู้สังเกตการณ์สหภาพยุโรป ได้ตั้งคำถามถึงความถูกต้องของชัยชนะอย่างฉิวเฉียดของนายบองโก ในการลงคะแนนเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2559

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังสื่อ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบล็อกอินเทอร์เน็ต และการที่กาบองระงับการออกอากาศชั่วคราวของสำนักข่าวต่างประเทศของฝรั่งเศส เช่น RFI, France 24 และ TV5 Monde.

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign