ลางร้ายเริ่มปกคลุม “ยูเครน” หลังมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่องว่า ปฏิบัติการตีโต้ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. จะประสบความล้มเหลวในท้ายที่สุด

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อวอชิงตัน โพสต์ รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯที่ประเมินภาพรวมไว้อย่างโหดร้ายว่า ต่อให้กองทัพยูเครนบุกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2566 ก็จะไม่สามารถทะลวงฝ่าแนวรับของกองทัพรัสเซียได้ จึงไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั่นคือการตัดการเชื่อมต่อทางบกระหว่างคาบสมุทรไครเมีย-จังหวัดซาโปริชเชีย-จังหวัดโดเนตสก์ เพื่อนำไปสู่การโอบล้อมไครเมียต่อไป

เช่นเดียวกับสื่อมวลชนอาวุโส อดีต บก.เดอะนิวยอร์กไทม์ส ซีมัวร์ เฮิร์ช ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าไม่มีทางเลยที่ยูเครนจะชนะ ตอนนี้แอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รับรายงานจากข่าวกรองซีไอเอแล้วว่า การบุกตีโต้ของยูเครนจะไม่ประสบผล และการบุกครั้งนี้ก็เป็นเพียงการเรียกความเชื่อมั่น

ไม่รวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่หารือกันระหว่างประชุมว่า หนึ่งในทางออกจากความขัดแย้ง คือการที่ยูเครนยอมสละดินแดนบางส่วนแลกกับการได้เป็นสมาชิกนาโต จนเลขาธิการเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ต้องออกมาแก้ข่าวพัลวันว่า นาโตจะสนับสนุนยูเครนจนกว่าจะชนะ เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน และรัฐบาลยูเครนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ในเรื่องว่าจะเจรจาหรือไม่เจรจากับรัสเซีย

...

และแน่นอนสำหรับผู้ที่กำลังครองความได้เปรียบย่อมไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะทางรัฐบาลรัสเซียในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็แทบจะไม่ส่งสัญญาณอะไร ฝากยูเครนไว้เพียงอย่างเดียวคือ “เจ้าอยากศึก ก็ทำศึก หากหวังเจรจาก็มาคุยเงื่อนไขกัน” ส่วนข้อความส่งถึงชาติตะวันตกก็มีเพียงแค่ “ทำอะไรที่อยากทำ แต่ขอไว้คืออย่าให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์”

การตัดสินใจทั้งหมด ณ เพลานี้ จึงไม่ใช่ ใครอื่นนอกจากรัฐบาล “ยูเครน” โดยเป็นภาระอันหนักอึ้ง เนื่องด้วยมีชะตากรรมของประชาชนและประเทศเป็นเดิมพัน การรบต่อย่อมหมายถึงการสูญเสียกำลังพลที่ยากจะฟื้นคืนในเวลาอันสั้น แต่ถ้าหยุดรบก็เห็นชัดเจนว่า ต้องยอมเสียดินแดนไป 4 จังหวัด (เคียร์ซอน ซาโปริชเชีย โดเนตสก์ ลูฮานสก์) โดยที่ยังไม่มีอะไรมาการันตีว่า กองทัพรัสเซียจะยั้งมือเพียงแค่นี้ หากได้พักฟื้นแล้วบุกโจมตียูเครนต่อไปจะทำเช่นไร

ก่อนหน้าสงครามยูเครน-รัสเซียอุบัติขึ้น เมื่อวันที่ 24 ก.พ. โลกเคยได้รับคำเตือนจาก “อเล็ก ซานเดอร์ ลูคาเชงโก” ประธานาธิบดีเบลารุส พันธมิตร หลักของรัสเซียที่ออกมาป่าวประกาศเป็นฉากๆว่า รัสเซียจะบุกยูเครนเช่นไร ตีฝ่าพรมแดนเข้าจากทิศทางใดบ้าง แต่ตอนนั้นไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะเพิ่งถูกสื่อตะวันตกดิสเครดิต รุมโจมตีว่าโกงการเลือกตั้ง จนได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสมัยที่ 6

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นอีกครั้ง ที่ประธานาธิบดี ลูคาเชงโก ออกมาให้สัมภาษณ์ยาวกับสื่อมวลชนยูเครนเกี่ยวกับภาพรวมและทิศทางที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไว้เป็นฉากๆอย่างน่าสนใจ โดยประการแรกมองว่า หากสู้ต่อไป ยูเครนอาจเสียดินแดนไปทั้งหมด มันมีหนทางที่จะยุติความขัดแย้งอยู่ แต่ถ้าสู้เพื่อชิงดินแดน รับรองได้เลยว่า “ยิ่งสู้ยิ่งเสีย” และจากนี้รัสเซียอาจบุกโจมตีไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อชิงเมืองท่าเรือต่างๆ ทำให้ยูเครนกลายเป็น “แลนด์ล็อก” ไม่มีทางออกสู่ทะเลอย่างสมบูรณ์

ประการต่อมาเบลารุสมองว่า กองทัพรัสเซียบรรลุหนึ่งในภารกิจหลักแล้ว นั่นคือการทำให้กองทัพยูเครนไม่สามารถเหิมเกริมได้อีกต่อไปหลังสงครามยุติ กองกำลังหัวรุนแรงในยูเครนพวกที่มีแนวคิดนาซีถูกบดขยี้จนบอบช้ำ ตอนนี้ทำได้เพียงเกณฑ์ชาวบ้านตามท้องถนนมารบ และบอกไว้เลยว่ารัสเซียยังมีกำลังพลอาสาที่ยังไม่ได้ลงสู่สนามรบอีกกว่า 250,000 นาย มีโดรนเต็มสนามรบไม่เหมือนช่วงต้นสงคราม ขณะที่การบุกตีโต้ของยูเครนตั้งแต่เดือน มิ.ย.ก็ยังไปไม่ถึงแนวป้องกันแรก บาดเจ็บล้มตายไปแล้วตั้ง 45,000 นาย อัตราสูญเสียอยู่ที่ 1 ต่อ 8 ถามว่าจะเอาคนมาจากไหนตอนรัสเซียนำกำลังสองแสนห้ามาเสริมทัพ

ประการที่สาม ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลโปแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเข้ามาดูแลดินแดนทางตะวันตกของยูเครน พร้อมเชื่อว่าผู้นำโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน อาจมุทะลุยกดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของต่างชาติ เพื่อแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่แน่นอนสิ่งนี้จะมีปัญหาตามมาคือ ชาวยูเครนจะไม่มีทางยอมรับ พักหลังมานี้เริ่มมีสัญญาณมากขึ้นว่า ยูเครนไม่ใช่เซเลนสกี และเซเลนสกีก็ไม่ใช่ยูเครน ผู้คนเริ่มเห็นความจริงแล้วว่า “วีรบุรุษแห่งยูเครน” คือภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อของชาติตะวันตก ชาวยูเครนที่อพยพออกจากประเทศเริ่มตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ผู้นำประเทศจะหาทางออก

...

ประการที่สี่ ประเทศเบลารุสมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่มีข่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กดดันให้เบลารุส (ซึ่งอยู่ติดภาคเหนือยูเครน) “เข้าร่วมสงคราม” ครั้งนี้ เพราะรัสเซียมีกำลังพลและขีดความสามารถของกองทัพมากพอที่จะปิดเกมด้วยตัวคนเดียว เอากำลังพลของเบลารุสไปเพิ่มอีก 70,000 นาย ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง กระนั้นแน่นอนว่าเบลารุสพร้อมช่วยเหลือรัสเซียในฐานะพันธมิตร และตราบใดที่ยูเครนไม่ข้ามพรมแดนเข้ามาในเบลารุส เราก็ไม่จำเป็นต้องร่วมวงสงคราม

และประการที่ห้า ความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้คือรัฐบาลสหรัฐฯได้ประโยชน์มากที่สุด พวกนั้นไม่แคร์ที่ชาวสลาฟจะมาเข่นฆ่ากันเอง เพราะการทำให้รัสเซียอ่อนแอลงก็ย่อมหมายความว่าจะสามารถโอบล้อม “จีน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ยอมตามน้ำไปในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วย่อมน่าเสียดายที่ประเทศยูเครนอันสวยงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติจะสาบสูญไม่เหลือความเป็นชาติอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ยูเครนจำเป็นต้องคิดให้ได้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน อย่างเบลารุสเองก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้วตอนสหภาพโซเวียตล่มสลาย และถูกชาติตะวันตกกดดันให้โอบอุ้มหลักการและคุณค่าของพวกเขา

ส่วนตัวเชื่อว่ายูเครนทำได้แน่นอน ยูเครนมีทรัพยากรต่างๆดียิ่งกว่าเบลารุส ดั่งคำกล่าวที่ว่าแค่ถ่มน้ำลายลงบนพื้นดินต้นกล้วยก็งอกงาม มันถึงเวลาแล้ว ยูเครนมีเรื่องให้ทำอีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มเดินก้าวแรก ซึ่งก้าวแรกที่ว่านี้คือการก้าวเดินเพื่อยุติสงครามที่ดำเนินมานานกว่า 1 ปี.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม

...