ตอนที่เกิดวิกฤติโควิด-19 การเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก คนหันมาสื่อสารกันทางออนไลน์ โทรศัพท์มือถือขายดีถึงขนาดขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ชิปคอมพิวเตอร์ราคาสูง แต่หลังจากที่วิกฤติโควิด-19 ลดลง เซมิคอนดักเตอร์ที่เคยขาดแคลนกลับมาอยู่ในภาวะล้นตลาด ชิปคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่เคยราคาสูงก็ราคาตกลง

โลกผ่านผลกระทบรุนแรงมาตั้งแต่สงครามการค้า วิกฤติโควิด-19 สงครามรัสเซีย-อูเครน ผลของวิกฤติต่างๆ ทำให้ทุกวันนี้ การส่งออกของโลกลดต่ำลงมาก เกิดภาวะเงินฝืด ประเทศที่เคยโดดเด่นเรื่องการผลิตและการส่งออกอย่างจีนก็ลดลง ไม่ใช่เฉพาะจีนอย่างเดียวดอกครับ เมื่อเทียบตัวเลขของเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2023 กับมิถุนายนและกรกฎาคม 2022 จะเห็นว่าหลายประเทศมีตัวเลขการจัดส่งสินค้าที่ต่ำลงมาก อย่างจีนนี่ลดลงร้อยละ 9.2 ไต้หวันร้อยละ 10.4 เวียดนามร้อยละ 15 เกาหลีใต้ร้อยละ 16 เช่นเดียวกับอินเดียที่ลดลงร้อยละ 16 สิงคโปร์ลดลงร้อยละ 19.3 ฯลฯ

ตอนนี้ทุกประเทศจับตาดูภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่าการส่งออกของจีนลดลงอย่างมาก คนว่างงานเพิ่มขึ้น เกิดภาวะเงินฝืด ฯลฯ สหรัฐฯเป็นประเทศหนึ่งที่กำหนดข้อจำกัดด้านการลงทุนในประเทศจีน ทำให้โรงงานหลายแห่งถอนตัวจากจีนไปลงทุนในประเทศอื่น

9 สิงหาคม 2023 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ให้อำนาจรัฐมนตรีคลังห้ามหรือจำกัดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯในบริษัทของจีนใน 3 อุตสาหกรรมคือ เซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีควอนตัม และระบบปัญญาประดิษฐ์บางชนิด ซึ่งคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯทำลายระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ สิ่งที่สหรัฐฯทำกับจีน ส่งผลทำให้โลกตึงเครียด เศรษฐกิจโลกที่แย่อยู่แล้ว ก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก

...

ฝ่ายสหรัฐฯประเมินว่า เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จีนก็จะมีความก้าวร้าวขึ้น และมีโอกาสที่จีนจะทำสงครามเกี่ยวกับไต้หวัน คำพูดนี้ผมไม่ได้กล่าวเอง แต่เป็นคำพูดของนายฮัล แบรนด์ ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญกระทรวงกลาโหมด้านวางแผนยุทธศาสตร์ (สมัยรัฐบาลโอบามา) คำพูดของนายแบรนด์สอดคล้องกับข่าวปล่อยจากวอยซ์ ออฟ อเมริกา ที่บอกว่าขณะนี้ จีนมีความเคลื่อนไหวที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลจีนใต้

รองประธานและผู้อำนวยการอาวุโสแห่งสถาบันแอตแลนติก เคาน์ซิล บอกว่าตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจจีนถูกดึงมาอยู่ในสภาวะทรงตัวแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะตกต่ำอย่างมากในอนาคตอันใกล้ การที่จีนเจอจุดอับอย่างนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะตัดสินใจบุกไต้หวันแบบเดียวกับที่ปูตินบุกอูเครน

ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ฝ่ายสหรัฐฯแล้ว ก็อยากจะเรียนว่าทุเรศมาก เศรษฐกิจโลกไม่ดีแทนที่จะช่วยกันปรับปรุงให้ดี กลับคิดวางแผนโน่นนี่นั่น เพื่อไปล้มเศรษฐกิจของบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีน ทั้งที่รู้ว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรเยอะ หากจีนแย่ ก็จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งโลก

ผู้ใหญ่อเมริกันกลับพูดถึงการล้อมจีนให้จนตรอก พูดบิดเบือนอย่างไม่มีเหตุผลว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จีนจะต้องบุกไต้หวัน โดยบอกว่าจีนจะทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่ปูตินบุกอูเครน พูดแบบไม่มี ตรรกะสนับสนุน พูดเป็นท่อนๆ เพื่อให้นักข่าวจับเพียงบางประโยคไปขยายผล สร้างความเสียหายให้กับจีน (และรัสเซีย)

ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้นำอเมริกันใช้อะไรคิด ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วจะต้องทำสงครามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วิธีการอันทุเรศทุรังอย่างนั้น สหรัฐฯนำมาใช้เพราะเป็นประเทศขายอาวุธ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี สหรัฐฯไปสร้างสงครามตามที่ต่างๆ ทำให้คู่สงครามต้องซื้ออาวุธ

แต่จีนไม่ใช่พ่อค้าสงครามหรือพ่อค้าอาวุธ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปสร้างสงครามกับไต้หวัน เพราะอย่างไรในอนาคต ไต้หวันก็จะต้องกลับมาอยู่กับจีนอยู่แล้ว

การลงนามของไบเดนและการวิจารณ์ของผู้คนระดับสูงของสหรัฐฯทำให้เราเชื่อว่า สหรัฐฯนี่แหละที่สร้างสงครามอูเครน-รัสเซีย และต้องการจะสร้างสงครามจีน-ไต้หวันขึ้นมาอีก.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม