สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือที่เราเรียกกันว่า NEDA ชวนให้ไปเยือนหลวงพระบางและเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่าง 3-5 สิงหาคม 2566 แต่ผมกลับไทยไม่ทัน จึงขอให้ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปแทน

หลายปีที่เปิดฟ้าส่องโลกเดินทางกับ NEDA ไม่ว่าจะเป็นที่กัมพูชา พม่า และ สปป.ลาว ทุกครั้งที่ไปกับ NEDA จะพบว่าเพื่อนบ้านชื่นชมไทยที่เข้าไปช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิ่งที่ไทยได้คืนมาก็คือ การค้าขายและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น มากกว่าเม็ดเงินที่เราลงทุนไปหลายเท่า

การเดินทางครั้งนี้นำโดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการฯ พันเอก ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รองผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ของ NEDA และสื่อมวลชน

กรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว นำไปดู สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ที่เชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาค ทางรถไฟระยะที่ 2 นี้ เริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ 7.5 กิโลเมตร ได้รับเงินกู้จากรัฐบาลไทยผ่าน NEDA ตอนนี้เสร็จสมบูรณ์หมดแล้ว ใช้งบประมาณ 994.68 ล้านบาท

อนาคตระบบรางจะเชื่อมจากกรุงเทพฯไปเวียงจันทน์ ตรงนี้ละครับ ที่จะช่วยเรื่องการส่งสินค้าและการท่องเที่ยว จากลาวก็สามารถต่อไปเวียดนามและจีน ลาวจะเป็นจุดเชื่อมของไทย อาเซียน และจีน ที่เป็นประโยชน์มากก็คือการขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปจีน เช่น ทุเรียน มังคุด ฯลฯ เราได้ทั้งความสัมพันธ์ การดูแลเพื่อนบ้าน และการดูแลเกษตรกรไทย

NEDA ให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว 33 โครงการ รวมเป็นเงินก็ 15,511.86 ล้านบาท เป็นความช่วยเหลือทางการเงิน 11 โครงการ (15,322.86 ล้านบาท) และความช่วยเหลือทางวิชาการ 12 โครงการ (189 ล้านบาท) ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2023 สปป.ลาวยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้กับไทยแต่อย่างใด สปป.ลาวปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัดสมบูรณ์

...

เราและ สปป.ลาว ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลก ทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ ศุลกากร การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า ทำให้ธุรกิจการค้าและการขนส่งภายใต้ความตกลงด้านการขนส่งข้ามแดนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ช่วยผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

ความช่วยเหลือและการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำลักษณะนี้เป็นวิธีที่มหาอำนาจใช้กับหลายประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียและแอฟริกา ผลก็คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ NEDA ช่วยให้สินค้าจากไทยไปลาว ไปจีน ผ่านไปกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ต่อไปจนถึงรัสเซียและยุโรปตะวันออก และสามารถไปได้จนถึงยุโรปตะวันตก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

สมัยก่อนตอนโน้น สินค้าจีนและภูมิภาคของเราจะส่งไปยุโรปก็ต้องผ่านเส้นทางสายไหม การขนส่งต้องใช้รถเทียมสัตว์ ทำให้เมืองต่างๆในเอเชียกลางเป็นทางผ่านและเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อบาร์ตูลูเมว ดีอัซ นักเดินเรือชาวโปรตุเกสพบแหลมกู๊ดโฮปในปี ค.ศ.1488 วาสโกดากามานักเดินเรือ ชาวโปรตุเกสเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮปใน ค.ศ. 1497 การขนส่งสินค้าสมัยนั้นผ่านแหลมกู๊ดโฮปในประเทศแอฟริกาใต้ ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเวสเทิร์นเคป ทางตะวันตกของอ่าวฟอลส์ ห่างจากเคปทาวน์ไปทางทิศใต้ 48 กิโลเมตร

แต่การแล่นเรือผ่านกู๊ดโฮปก็ยังเสียเวลามาก ช่วงนั้นคนก็ยังนิยมใช้เส้นทางสายไหมซึ่งเป็นเส้นทางบกจากจีนไปยุโรป กระทั่งมีการขุดคลองสุเอซทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาที่เชื่อมระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 163 กิโลเมตร ซึ่งการขุดคลองสุเอซมีผลกระทบอย่างไร ผมขออนุญาตมารับใช้ในโอกาสต่อไป

หลายคนมองข้ามงานของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ผมขอเรียนว่า NEDA ทำงานแบบปิดทองหลังพระมาโดยตลอด องค์กรนี้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน พวกเราผู้เขียนคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกซึ่งผ่านการงานมาจนครบหมดทุกทวีป มากกว่า 100 ประเทศ จะขอนำสิ่งที่ NEDA ทำเป็นรูปธรรมมารับใช้กันครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม