เคยมีเจ้าหน้าที่จีนอธิบายว่า หากรัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะชี้แจงหรือตอบคำถาม นั่นหมายความว่า เป็นเรื่องที่ยัง “เคลียร์ไม่จบ” แต่ถ้าพูดเมื่อไรก็หมายถึง “จัดการเรียบร้อย”

สอดคล้องกับรูปการณ์ตลอดเดือน ก.ค. ที่รัฐบาลจีนอยู่ในสภาพอ้ำๆอึ้งๆ ต่อกรณีนาย “ฉิน กัง” รมว.ต่างประเทศวัย 57 ปี ไม่ปรากฏตัวออกงานนับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. พิธีการโค้งสุดท้ายที่เจ้าตัวได้ปฏิบัติหน้าที่คือการหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และนายบุ่ย แทง เซิน รมว.ต่างประเทศเวียดนาม

ตามด้วยข่าวรัฐบาลจีนยกเลิกนัดหารือกับนายโจเซฟ บอร์เรล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป และข่าวว่านาย “หวัง อี้” รมว.ต่างประเทศจีนคนเก่าวัย 69 ปี มานั่งรักษาการและเดินทางไปร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

จนเกิดความสงสัยจากบรรดาสื่อตะวันตกที่จับจ้องจีนทุกความเคลื่อนไหว ตั้งคำถามตามหาตัวนายฉิน กัง อย่างต่อเนื่อง คาดคะเนกันไปว่า ติดโควิด-19 หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้จากโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนก็มีแค่ “เราไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้” และรัฐบาลจีนขอต่อต้านกระแสความสนใจในแง่ลบ

...

และก็กลายเป็นว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฉิน กัง ถูกสั่งถอดจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ผู้ที่มารับบทบาทแทนคือนาย หวัง อี้ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมการต่างประเทศส่วนกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีสถานะเป็น “เจ้านาย” ของนายฉิน กัง ข่าวที่ ออกมายังเน้นย้ำว่าคำสั่งปลดครั้งนี้นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นคนลงนามเห็นชอบด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีภาพหลังฉากด้วยเช่นกัน หลังมีข้อมูลถูกปล่อยมาว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่อะไร แต่เป็นผลพวงมาจากความไม่ดูตาม้าตาเรือของนายฉิน  กัง ที่พาให้เสียการใหญ่

ทั้งนี้ มีเสียงซุบซิบจาก “แหล่งข่าว” ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาลจีนเปิดเผยว่า นายฉิน กัง ถูกจับตามองมาพักใหญ่แล้วว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงในแวดวงการเมือง ตอนที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพิธีการของกระทรวงการต่างประเทศจีนสามารถอ่านคนได้ว่าใครต้องการอะไร จนเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ด้วยเหตุนี้หากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่าความเจริญก้าวหน้าของนายฉิน กัง จึงมีลักษณะเลื่อนขั้นแบบ ฟาสต์-แทร็ก โดยภายในระยะเวลา 5 ปี จาก ผอ.ฝ่ายพิธีการ กลายเป็น รมช.ต่างประเทศจีน ก่อนขยับไปเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ก่อนขึ้นแท่นขุนต่างประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา

แต่แน่นอน ตามคำกล่าว “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” การขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศจีนอย่างรวดเร็วของนายฉิน กัง อาจมีการ “ล้ำเส้น” เกิดขึ้น เพราะหลังจากรั้งตำแหน่งขุนนาง นายฉิน กัง ก็ทำการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวง ที่ชัดเจนคือตำแหน่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศ นายจ้าว ลี่เจี้ยน ที่ถูกสื่อตะวันตกขนานนามว่า “การทูตแบบหมาป่า” เต็มไปด้วยความแข็งกร้าว...ถูกสั่งเก็บเข้ากรุ

โดยเก้าอี้ถูกยกไปให้นายหวาง เหวินปิง และ น.ส.เหมา หนิง ที่มีความซอฟต์ นุ่มนวลมากกว่า ทำให้เกิดการตั้งคำถามในแวดวงการเมืองว่ามันเกิดอะไรขึ้น  ฉิน กัง กำลังจะฝักใฝ่ชาติตะวันตกหรือเปล่า เนื่องจากเป็นการปรับโผท่ามกลางสถานการณ์การเผชิญหน้าอย่างหนักระหว่าง จีน-สหรัฐอเมริกา

และที่สำคัญเป็นการปรับตำแหน่งที่ผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนโอเคหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าจีนใช้ระบบพรรคคุมการเมือง ถึงเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็ใช่ว่าจะใหญ่ที่สุด คนที่ใหญ่กว่านายฉิน กัง ก็คือนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการคณะกรรมการต่างประเทศส่วนกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน...ใครเป็นเด็กใครเช็กดีแล้วหรือยัง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวมาผสมผสานขยี้ซ้ำไปอีกว่า นายฉิน กัง ที่มีครอบครัวแล้ว กำลัง “คบชู้” กับผู้ประกาศข่าวสาวนามว่าฟู่ เซ่า เถียน จากเกาะฮ่องกงหรือไม่ ซึ่งถึงเรื่องนี้จะไม่มีมูลอย่างชัดเจน แต่ก็ร่ำลือกันไปหนาหูแล้วว่า สตรีรายนี้ไม่ใช่ธรรมดา เคยเป็นเมียเก็บของลูกคนใหญ่คนโตในแวดวงการไฟฟ้า ก่อนที่จะ “ไต่เต้า” มามีข่าวกับ รมว.ต่างประเทศจีน ซึ่งไม่นานมานี้เจ้าตัวยังโพสต์ภาพนั่งเครื่องบินส่วนตัว พร้อมกับลูกชายวัยทารก ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่านั่นลูกใครและที่นั่งอยู่ใช่เครื่องบินราชการหรือเปล่า

...

ไปจนถึงขั้นว่าผู้หญิงคนนี้สัมภาษณ์ผู้นำตะวันตกมามากมาย มีคฤหาสน์หรูราคาหลัก 100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เคยบริจาคเงินแก่วิทยาลัยเชอร์ชิล คอลเลจ ในเมืองเคมบริดจ์ อังกฤษ จนได้รับเกียรติตั้งชื่อสวนไม้แห่งหนึ่งในรั้ววิทยาลัยว่าสวนเซ่าเถียนฟู ความสัมพันธ์เหล่านี้น่าสงสัยยิ่งนักว่าจะเป็นไส้ศึกที่ถูกส่งมา

ทั้งหมดทั้งปวงนี้จึงนำไปสู่บทสรุปที่ว่า...แม้พรุ่งนี้หรือหลังจากนี้จะไม่มีคำตอบว่า ทำไมนายฉิน กัง ถึงถูกปลด แต่ปัจจัย “สองเด้ง” ทั้งทางการเมืองและข่าวลือชู้สาว ซึ่งรัฐบาลจีนเคยมีบทเรียนอันน่าปวดหัวมาแล้วจากกรณี “เผิง ฉ่วย” นักเทนนิสชื่อดังชาวจีน ตกเป็นข่าวมีสัมพันธ์ลับกับอดีตรองนายกรัฐมนตรี...ก็น่าจะเป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะ “ปล่อยไว้ไม่ได้” และจำเป็นต้อง “ลงดาบ” จัดการในที่สุด.

วีรพจน์ อินทรพันธ์