โนสนโนแคร์โลก...นึกถึงแต่ตัวเองก่อน...ตั้งคำถามเก่ง...รักอิสระ คือนิยามของ “คนเจน Z” ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 (ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 11-26 ปี) พวกเขากำลังจะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

อาชีพในฝันของคนเจน Z บ่งบอกได้ชัดถึงทัศนคติที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพราะคนเจน Z ไม่ได้มองหาความสำเร็จแบบสุดยอด หรือทุ่มเททำงานหนักเหมือนพ่อแม่เจน X ทว่า พวกเขาชื่นชอบแนวคิดแบบ “work–life balance” การสร้างสมดุลชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ลงตัว เพื่อลดผลกระทบจากการทำงานหนักเกินไปจนไม่เหลือเวลาให้ตัวเองและครอบครัว

ทำยังไงให้เกิด “work-life balance” ดาวติ๊กต่อกที่ใช้ชื่อว่า “@gabrielle_judge” เจ้าของแนวคิด “The Anti Work Girlboss” ปลุกเทรนด์การทำงานแนวใหม่แบบคนขี้เกียจ “Lazy Girl Jobs” จนกลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก โดยเป้าหมายสำคัญของ “การทำงานแบบคนขี้เกียจ” ไม่ใช่การเกี่ยงงานหรือเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นการหาสมดุลชีวิตที่ลงตัว ทำให้เรามีเวลาส่วนตัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และไม่ต้องออกแรงเยอะโดยไม่จำเป็น

ช่างตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการทำงานแบบดั้งเดิมที่เรียกร้องทั้งเวลา, ความทุ่มเท และจิตใจ หลายคนเข้ามานั่งออฟฟิศเพื่อคุยเจ๊าะแจ๊ะให้หมดเวลาไปวันๆ แต่ผลผลิตของงานไม่ได้งอกเงยเลย แถมยังต้องเสียอารมณ์กับเพื่อนร่วมงานที่คอยขัดแข้งขัดขากันเอง

แล้วงานแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นงานของคนขี้เกียจ นอกจากจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ยังมีอาชีพน่าสนใจสำหรับคนขี้เกียจ เช่น “นักกอด” รายได้เฉลี่ยสูงสุด 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน, “ผู้ทดสอบเกม” รายได้เฉลี่ยสูงสุด 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง, “ผู้ประเมินกลิ่นปากจากลมหายใจ” รายได้เฉลี่ยสูงสุด 64,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี, “นักแปล” รายได้เฉลี่ย 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง และ “นักขอโทษมืออาชีพ” รายได้เฉลี่ย 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

...

ผลการสำรวจจาก “Workspace Technology” พบว่า เกือบ ครึ่งหนึ่งของคนเจน Z จะลาออกจากงานทันทีถ้าไม่ได้รับเงื่อนไขการทำงานแบบไฮบริด คือสามารถทำงานทั้งจากที่ออฟฟิศและจากที่บ้านได้ แทนการทำงานที่ออฟฟิศอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน

คนเจน Z คิดต่างจากรุ่นพ่อแม่เจน X พวกเขาอยากใช้ชีวิต อย่างมีความสุขมากกว่าจะทุ่มเททำงานหนักเพื่อไต่เต้าตำแหน่งอาชีพการงาน บางคนยอมรับว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่มีรายได้ ตอบแทนเยอะที่สุด โดยใช้เวลาทำงานน้อยที่สุด เพื่อจะได้เอาเวลาไปทำในสิ่งที่สนใจจริงๆ แทนที่จะทุ่มเทเวลา 40 ปี ทำงานรับใช้เจ้านาย เพื่อแลกกับเงินเดือนน้อยนิดที่ไม่ขึ้นมาเป็นทศวรรษ สุดท้ายก็ต้องเกษียณแบบจนๆเป็นภาระของประเทศชาติ

 จะโทษพวกเขาก็ไม่ได้ที่ฉลาดใช้ชีวิตมากกว่ารุ่นพ่อแม่ ซึ่งศรัทธาในเรื่องการทำงานหนัก เพราะคนเจน Z เกิดมาในยุคเฟื่องฟูของโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต พวกเขารับข้อมูลข่าวสารมากมายจากอินเตอร์เน็ต ทำให้รู้ว่าคนเจเนอเรชันก่อนๆ ทิ้งปัญหาอะไรไว้บ้างให้พวกเขาต้องตามแก้ไข

ขณะที่คนเจเนอเรชันอื่นมองว่า คนเจน Z ไม่แคร์โลกและนึกถึงตัวเองก่อน แต่จากการศึกษาพบว่า ชาวเจน Z ในอาเซียน มองว่า ความสำเร็จในชีวิตเกิดจากความสุขของตนเองและคนรอบข้าง แม้จะรักตัวเองเป็นที่หนึ่ง แต่พวกเขาก็ยังให้คุณค่ากับครอบครัว และมองว่าความพึงพอใจของตัวเองสำคัญกว่าความสำเร็จในชีวิตที่ต้องแย่งกันปีนป่ายให้ได้มา.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม