เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี่เอง ในขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งบ่นกระปอด กระแปดว่า จนป่านนี้เรายังตั้งรัฐบาลใหม่กันไม่ได้ เวลาผ่านไปเกือบ 70 วันแล้วนะ เมื่่อไรจะตั้งได้เสียที?
เพจ “อีจัน” ก็ไปหยิบสถิติโลกที่บันทึกไว้ โดย กินเนสส์บุ๊กออฟ เรกคอร์ด มาแจ้งให้ทราบว่า ที่เรารอมาเกือบ 70 วันนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะจากสถิติที่ กินเนสส์บุ๊ก บันทึกไว้ ปรากฏว่า ประเทศที่ทำสถิติไว้ยาวนานที่สุดของโลก ได้แก่ ประเทศ เบลเยียม นั่นเอง
“อีจัน” สรุปให้เห็นชัดเจนโดยไล่จากใช้เวลานาน อันดับ 5 ไปถึงอันดับ 1 ดังนี้
5. สวีเดน 134 วัน (ไม่ระบุ พ.ศ. หรือ ค.ศ.), 4. เยอรมนี 136 วัน (เมื่อ พ.ศ.2560 นาง อังเกลา แมร์เคิล ชนะเลือกตั้งได้คะแนน 33 เปอร์เซ็นต์ กว่าจะเจรจาได้สำเร็จ ต้องใช้เวลาถึงกว่า 4 เดือน), 3. เนเธอร์แลนด์ 225 วัน (หลังการเลือกตั้ง 2560) 2. สเปน 315 วัน หลังการเลือกตั้งปี 2558
แล้วก็มาถึง “แชมป์” หรืออันดับ 1 ได้แก่เบลเยียมเมื่อปี พ.ศ.2553 ใช้เวลาเจรจายาวนานมากถึง 541 วัน!
ผมต้องขอขอบคุณ เพจ “อีจัน” ที่นำสถิติทั้งหมดนี้มาเผยแพร่ เพราะตรงกับที่ผมจะเขียนถึงเพื่อเป็นกรณีศึกษาอยู่เหมือนกัน
คือจะเขียนถึง เบลเยียม แชมป์โลกจัดตั้งรัฐบาลช้านี่แหละครับ เพียงแต่ผมจะใช้ข้อมูลใหม่ล่าสุด ที่เป็นปัจจุบันสุดของเบลเยียมเป็นที่ตั้ง ถือเป็นการต่อยอดจากเพจ “อีจัน” ก็แล้วกัน
ถูกต้องแล้วครับ ที่เบลเยียมเคยทำสถิติใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุดถึง 541 วัน เมื่อปี พ.ศ.2553 หรือ 2010 ดังที่เพจ “อีจัน” รายงานไว้
แต่ล่าสุดเมื่อ ค.ศ.2019 หรือ พ.ศ.2562 นี่เองหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่จบลงผลออกมาคะแนนเสียงสูสีไม่มีพรรคใดในเบลเยียมชนะได้คะแนนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง
...
ขณะเดียวกันการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ไม่มีใครยอมใครจนต้องใช้เวลาถึง 652 วัน หรือเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะยอมรับหัวหน้าพรรคโอเพ่นเฟลมบิซ ลิเบอรัล คุณ อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ขึ้นเป็นนายกฯคนใหม่
สถิติ 652 วัน จึงเป็นสถิติโลกใหม่ของเบลเยียมทำลายสถิติเดิมปี 2553 หรือ 2010 ที่เบลเยียมทำไว้เอง 541 วันลงอย่างราบคาบ
เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคมปี 2020 หนังสือพิมพ์ในเบลเยียมต่างก็พาดหัวข่าวว่าประเทศตนทำลายสถิติ “ไร้รัฐบาลใหม่” ที่ตนเองทำไว้สูงสุดของโลกเรียบร้อย
บ้างก็เสนอบทความว่าการไร้รัฐบาลใหม่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะมีรัฐบาลเก่ารักษาการอยู่ งานก็ยังเดินไปตามปกติ ประชาชนก็ยังทำงานตามปกติ เรียนหนังสือตามปกติ ฯลฯ
ในขณะที่ก็มีศาสตราจารย์ที่สอนวิชารัฐศาสตร์และการเมืองบางท่าน รวมทั้งอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย เสนอความเห็นสอดคล้องกันว่าอาจมีผลเสียที่มองไม่เห็นและประมาณค่ามิได้ เกิดขึ้นจากการที่ไม่มีรัฐบาลใหม่มาตัดสินใจในเรื่องสำคัญอยู่บ้างในระยะยาว
ต่อมาโลกเราก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกล้มตายจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่มีข่าวว่าเบลเยียมทำลายสถิติโลกของตนเอง กรณีตั้งรัฐบาลช้าไปเรียบร้อยนั้น...สถานการณ์โควิด-19 ของเบลเยียมค่อนข้างหนักมาก มีผู้เสียชีวิตถึง 10,000 คน
หลายๆฝ่ายจึงสรุปว่าโควิด-19 น่าจะมีส่วนบีบรัดทำให้การเจรจาต่อรอง จัดตั้งรัฐบาลผสมรวดเร็วขึ้น และในที่สุดก็ได้ คุณ อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 1 ตุลาคม ปี 2020 หรือพ.ศ.2563 มาจนถึงปัจจุบัน
ผมก็เอาเรื่องราวของเบลเยียมมาฝาก เผื่อจะช่วยปลอบประโลมใจได้บ้าง หากการเจรจาตั้งรัฐบาลของเราจะยืดเยื้อออกไป ก็ขอให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาโลก และประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้น ทั้งเบลเยียมและอื่นๆ ก็เป็นประเทศประชาธิปไตยทั้งสิ้น
ในกรณีของเรานั้น หากการมีรัฐบาลเร็ว จะทำให้บ้านเมืองแตกแยกมากขึ้น เราก็คงต้องยอมช้าเอาไว้หน่อยดีกว่า
แต่ก็ไม่ควรช้าจนเกินเหตุนะครับ ถ้าได้รัฐบาลที่พอรับได้ เช่น ไม่ใช่พรรคที่จะแก้ ม.112 ไม่ใช่ลุงทั้ง 2 ลุงแล้วได้นายกฯคนใหม่ที่ไม่ขี้เหร่นัก ก็รีบๆตัดสินใจละกัน
ผมยังมองว่ามีรัฐบาลจริงยังไงๆก็ดีกว่ามีรัฐบาลรักษาการเยอะครับ พยายามต่อไปนะครับ...แต่อย่าให้นานเหมือนเบลเยียมก็แล้วกัน เดี๋ยวจะทำให้ลุงตู่ได้อยู่แถมอีก 2 ปีตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม