กลุ่มคนจีนที่เคยติดต่อว่าอยากมาเยือนเมืองไทยต่างระงับการเดินทาง สอบถามไปในวงการการท่องเที่ยวของจีน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ตอนนี้คนจีนไม่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ แม้แต่การท่องเที่ยวในประเทศก็ไม่ได้สดใสอย่างที่คิด ใครที่เคยคาดหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นโดยอาศัยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจีนก็ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีนให้ดีครับ ผมมีลางสังหรณ์ว่าท่านอาจจะผิดหวัง

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนสะสม 5 เดือนแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ค.ศ.2019 (ก่อนโควิด-19) คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 35.9 เท่านั้น แต่สถานการณ์ของไทยก็ยังดีกว่าเวียดนาม (34.3) สิงคโปร์ (25.2) และฟิลิปปินส์ (13.8) สำหรับอินโดนีเซีย พวกโรงแรมหรู ภัตตาคารทั้งหลายที่ปรับปรุงสถานที่เตรียมรับนักท่องเที่ยวจีนก็ซีดไปตามๆ กัน ไตรมาสแรกของ ค.ศ.2019 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศมีมากถึงร้อยละ 30 แต่ไตรมาสแรกของ ค.ศ.2023 มีเพียงร้อยละ 1.6

คนจีนที่มีฐานะจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้ว่าเศรษฐกิจในประเทศของตนจะเติบโตช้า ก็เริ่มย้ายออกนอกประเทศ ไตรมาส 1 ของปีนี้ คนจีนมาซื้อคอนโดในประเทศไทยถึง 1,747 ชุด คิดเป็น ร้อยละ 46.3 ของคนต่างชาติที่มาซื้อคอนโดในประเทศไทย นี่หมายความว่า คนจีนเริ่มย้ายแหล่งทำมาหากิน และมีจำนวนไม่น้อยไปลงหลักปักฐานในประเทศต่างๆทั่วโลก

สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนโตช้าและมีแนวโน้มว่าอาจจะมีความยุ่งยากในอนาคตก็คือการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติไปอยู่ที่อื่นที่ไม่มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ บริษัทใหญ่หลายแห่งที่ใช้บริการสำนักวิเคราะห์ระดับโลกมีความเชื่อว่า จีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาไต้หวันและปัญหาการถูกปิดล้อมจากสหรัฐฯและพันธมิตรในอนาคต

พันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีความใหญ่โตสมน้ำสมเนื้อกับจีนก็คือรัสเซีย ซึ่งขณะนี้ก็ติดพันกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-อูเครน ทำให้หันมาช่วยจีนได้ยาก ความเป็นจริงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีน ตอนนี้ลามปามไปทั่วโลก รัฐบาลที่ไหวตัวทันจึงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกหดตัว ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนของตนหันมาสนใจการผลิตในภาคเกษตรเพื่อให้สามารถผลิตให้พอเพียงในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของประชาชนในประเทศ

...

แต่เดิมนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2023 จะเติบโตร้อยละ 7.3 แต่ในความเป็นจริงเติบโตเพียงร้อยละ 6.3 ใครจะนึกเล่าครับว่าในเดือนมิถุนายน 2023 อัตราการว่างงานในกลุ่มประชากรจีนวัย 16-24 ปีจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 21.3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของจีนตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติมา การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน เอเชีย และเศรษฐกิจโลกแน่นอน

นอกจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวแล้ว อีกเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้พลเมืองโลกจะเกิดปัญหาอย่างมากก็คือโรงงานผู้ผลิตขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ ทำให้คนตกงานจำนวนมากทุกประเทศ ทางแก้ไขปัญหาของรัฐก็คือต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นแรงงานระดับชำนาญการ ให้เป็นแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง และต้องบริหารจัดการให้แรงงานส่วนหนึ่งไหลเข้าไปอยู่ในภาคเกษตรกรรม การปฏิรูป ที่ดินและการบริหารจัดการที่ดินเพื่อรองรับแรงงานที่มาจากนอกภาคเกษตรให้มาอยู่ในภาคเกษตร จึงจำเป็นอย่างมาก

ค.ศ.2011 มีเพียง 22 ประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับระดับหนี้ต่อจีดีพีเกินร้อยละ 60 เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 11 ปี ค.ศ.2022 มีประเทศกำลังพัฒนามากถึง 59 แห่งที่เผชิญกับระดับหนี้ต่อจีดีพีเกินร้อยละ 60 หนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ ทั่วโลกใน ค.ศ.2022 เพิ่มสูงถึง 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าเป็นเงินไทยก็มากถึง 3,000 ล้านล้านบาท หนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ กู้มาสู้กับวิกฤติหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติโควิด-19

‘เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาคือของจริง’.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม