“คู่ต่อสู้คาดหวังว่าเราจะล่าถอยหรือยอมจำนน สิ่งที่จะไม่มีทางเกิดขึ้น และเรากล่าวย้ำอยู่หลายต่อหลายครั้ง รัสเซียมีแต่จะเดินหน้าไปบนเส้นทางที่เหมือนจะโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย”
เป็นคำกล่าวอย่างหนักแน่นของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ต่อสถานการณ์ “ปิดล้อมรัสเซีย” ชาติตะวันตกเดินเกมเล่นงานแดนหมีขาวอย่างรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยูเครนบั่นทอนแสนยานุภาพทางความมั่นคง หรือการใช้มาตรการคว่ำบาตร ตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก ทำลายเศรษฐกิจและการลงทุน
จนมีข้อสงสัยว่า กลุ่มมหาอำนาจเก่ากำลังพยายาม “จัดระเบียบโลกใหม่” เพื่อที่ตัวเองยังครองความเป็นเจ้าครองพิภพหรือไม่ เพราะงานนี้ไฟความขัดแย้งยังลุกลามไปถึงจีน พันธมิตรตะวันตกปั่นกระแสความ “บูลลี่” ของพญามังกร รังแกกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ และหวังกลืนกินเกาะฟอร์โมซา “ไต้หวัน”
นับวันการเมืองโลกยิ่งส่งสัญญาณ “แบ่งขั้ว” ที่ส่อเค้าจะเลวร้ายยิ่งกว่ายุคสงครามเย็น
หรืออาจถึงขั้นแปรเปลี่ยนเป็น “สงครามร้อน” มีการรบพุ่งกันอย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นใน “ยูเครน” ภูมิภาคยุโรปตะวันออก เนื่องด้วยงานนี้ขิงก็ราข่าก็แรง
...
เพราะการตอบโต้ของขั้วตรงข้ามชาติตะวันตก ซึ่งกรณีนี้หมายถึง “รัสเซีย-จีน” นั้น มันก็เห็นได้ชัดว่าเป็นไปในรูปแบบความมั่นคงและเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะการเขย่าโครงสร้างอำนาจของสหรัฐ อเมริกา ลดการพึ่งพาเงินสกุล “ดอลลาร์” สื่อกลางแลกเปลี่ยนหลักของโลก นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองเงินทุนสำรองดอลลาร์ไว้ถึงสัดส่วน 58.4% ขณะที่ระบบสวิฟต์ (แลกเปลี่ยนเงินระหว่างธนาคาร) บ่งชี้ว่าในเดือน เม.ย.2566 เงินดอลลาร์ได้ถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในสัดส่วนเกือบ 60%
ถือเป็นสกุลเงินที่มีความ “คงกระพัน” ทุกคนต้องพึ่งพาในทุกสถานการณ์ เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อิทธิพลทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือบทบาทของบริษัทเอกชนสหรัฐฯในตลาดโลก สิ่งเหล่านี้ได้ซัพพอร์ตเงินสกุลดอลลาร์เรื่อยมา และถึงแม้จะเคยเกิดวิกฤติการเงินทั่วโลกปี 2551-2552 ที่เริ่มมาจากสหรัฐฯ ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินดอลลาร์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หินผาที่แข็งแกร่งก็ย่อมสั่นคลอน พฤติกรรมของรัฐบาลสหรัฐฯที่ออกมาตรการคว่ำบาตร กีดกันธนาคารกลางรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกได้ก่อให้เกิดคำถามแก่รัฐบาลต่างๆรวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกว่า หากวันหนึ่งประเทศตัวเอง “มีปัญหา” กับสหรัฐฯ แล้วจะเป็นเช่นไร และนำไปสู่การเตรียมตัวหา “ออปชันสำรอง” จนกลายเป็นโอกาสแก่ขั้วตรงข้ามชาติตะวันตกที่จะผลักดันระบบการเงินหรือสกุลเงินทดแทน
โดยเฉพาะจีนที่พยายามมาตลอดที่จะโปรโมตเงิน “หยวน” หรือเหรินหมินปี (RMB) ให้เป็นสกุลเงินสากลผ่านกระบวนการซื้อขายระหว่างประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้พยายามอย่างหนักที่จะนำเสนอให้มิตรประเทศและหุ้นส่วนดีลตรงกันด้วยสกุลหยวนและเริ่มที่จะประสบความสำเร็จในบางส่วน อย่างกรณีการซื้อขายน้ำมันกับชาติอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีการเรียกขานกันว่า “เปโตรหยวน” จากเดิมที่การซื้อขายน้ำมันจะดำเนินการด้วยเงินสกุลดอลลาร์ หรือ “เปโตรดอลลาร์” เท่านั้น
เช่นเดียวกับรัฐบาลรัสเซียที่เริ่มแสดงความประสงค์ว่าอยากใช้กลไกกลุ่มความร่วมมือ BRICS บราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน-แอฟริกาใต้ ที่มีทีท่าว่าจะได้สมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ตุรกี จัดตั้งเงินสกุลสื่อกลางระหว่างสมาชิกกลุ่ม โดยหยิบยกมาพูดถึงในเวทีประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่หากดูจากสถิติแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงถือเงินสกุลดอลลาร์ไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอัตราที่สูง ตัวเลขจากช่วง 2 ทศวรรษก่อน ธนาคารกลางทั่วโลกถือดอลลาร์ไว้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ขณะที่ตัวเลขเมื่อปี 2563 ธนาคารกลางทั่วโลกมีการถือครองสกุลดอลลาร์อยู่ที่กว่า 60% ซึ่งหากเทียบกับสกุลหยวนของจีนแล้ว มีอัตราถือครองที่ต่ำอยู่ที่ประมาณ 3%
ที่สำคัญคือการบริหารจัดการและการสะสมสินทรัพย์ในต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังทำให้คุณค่าของสกุลดอลลาร์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองนั้นอยู่ในระดับคงที่ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ประมาณ 11.5-12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 402.5-420 ล้านบาท ส่วนคุณค่าของเงินหยวนจีนที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองสามารถตีเป็นมูลค่าอยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 140 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2557 และปัจจุบันมีมูลค่าลดลงมาเป็น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 112 ล้านล้านบาท ถือว่าหดตัวลง 20%
จึงสามารถสรุปได้หรือไม่ว่า ความพยายามลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ de-dollarization ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดมากนักและอาจเป็นเกมที่ต้องต่อสู้กันในระยะยาว...ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่มีทางที่จะยอมศิโรราบ และพร้อมต่อสู้ยิบตาเฉกเช่น คำประกาศของผู้นำปูติน.
วีรพจน์ อินทรพันธ์