ตูรินเป็นเมืองหลวงของแคว้นปีดมอนต์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโป ห่างจากเมืองเจนัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 125 กิโลเมตร โลคานาเป็นเทศบาลในตูรินอยู่ในหุบเขาออร์โก เมื่อร้อยปีที่แล้ว มีคนอยู่เกือบหมื่น ค.ศ.2019 มีการสำรวจสำมะโนประชากร เหลือมนุษย์อยู่เพียง 1,500 คน มีบ้านร้างบานเบอะเยอะแยะ รัฐบาลท้องถิ่นของโลคานาประกาศขายบ้านหลังละ 1 ยูโร หรือ 37 บาท เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร แถมครอบครัวไหนที่มาพร้อมลูก รัฐบาลท้องถิ่นก็ยังให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 9,000 ยูโร หรือ 3.34 แสนบาท

สถานการณ์บ้านร้างในอิตาลียังมีอีกหลายเมือง เช่น ชิงเคว ฟรอนดี ทางตอนใต้ของอิตาลี และอีกหลายเมืองในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องหาคนมาอยู่โดยด่วนเพื่อเพิ่มคนให้ยังมีสถานะเป็นชุมชน ถ้ามีผู้คนไม่มากพอ ชุมชนก็จะอยู่กันลำบาก ไม่มีช่างตัดผม ไม่มีช่างประปา ช่างไฟฟ้า ไม่มีร้านขายอาหาร ไม่มีครูสอนหนังสือ ไม่มีหมอ พยาบาล ฯลฯ บั้นปลายท้ายที่สุด คนทั้งหมดก็ต้องหนีออกและก็จะกลายเป็นเมืองร้าง แม้แต่เทศบาลก็จะไม่มี เพราะไม่มีจำนวนประชากรเพียงพอที่จะรักษาสถานะความเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาล

ปัจจุบันเราจึงได้เห็นข่าวบ่อยๆ เรื่องการจ้างคนให้ไปอยู่ในเมืองที่มีคนน้อย เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ต้องเพิ่มคนให้มีจำนวนเพียงพอที่จะพึ่งพากันได้ ปัจจุบันคนไม่นิยมมีลูก ทำให้อัตราการตายมีมากกว่าอัตราการเกิด อย่างเมืองโลคานาทางตอนเหนือของอิตาลี แต่ละปีมีคนเกิดโดยเฉลี่ยเพียง 10 คน แต่คนตายมากกว่า 40 ชีวิต ถ้าไม่เพิ่มเติมคน อนาคตโลคานาเป็นเมืองร้างแน่

ค.ศ.2018 ญี่ปุ่นมีบ้านร้าง 8.5 ล้านหลัง หรือประมาณร้อยละ 14 ของจำนวนบ้านทั้งหมดในประเทศ สถาบันวิจัยโนมูระ ศึกษาพบว่าใน ค.ศ.2033 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า บ้านร้างในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 22 ล้านหลัง ที่เป็น อย่างนี้เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับมรดก เพราะการรับบ้านหรือมรดกในญี่ปุ่นต้องเสียภาษีสูง นอกจากนั้น ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ผู้คนมีเงินไม่พอที่จะไปแบกรับค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงรักษา หากทุบทิ้งก็ต้องเสียค่ารื้อถอน เป็นที่ดินเปล่าแล้วก็ต้องเสียค่าที่ดินเปล่าอีก คนญี่ปุ่นจึงยอมตายโดยที่ไม่ระบุชื่อคนรับบ้านและที่ดินต่อ เพราะไม่อยากให้เป็นภาระของลูกหลาน

...

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโนมูระ บ้านในญี่ปุ่นที่ไม่สามารถระบุตัวตนเจ้าของ มีมากถึงร้อยละ 11 รัฐบาลญี่ปุ่น พยายามหาเงินมาอุดหนุนคนที่อยากจะซื้อบ้าน บางครั้งก็ประกาศให้ฟรี หลายแห่งรัฐช่วยค่าซ่อมแซม รัฐบาลท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองโทชิงิ เทศบาลเมืองนากาโนะ ฯลฯ เปิดเว็บไซต์รวบรวมบ้านที่โดนทิ้งร้างแล้วก็ประกาศขายเพียงหลังละ 5 หมื่นเยน เป็นเงินไทยก็ 1.2 หมื่นบาท

เทศบาลเมืองไดเซ็น จังหวัดทตโตริ ประกาศอุดหนุนเงิน 2 ล้านเยน หรือประมาณ 5 แสนบาท ให้คนที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านร้าง อันนี้ก็ช่วยให้บ้านร้างในเมืองไดเซ็นลดลงถึงร้อยละ 7.9 หมายความว่าบ้านร้าง 100 หลัง พอรัฐบาลให้สตางค์ก็มีคนมาอยู่เพิ่มถึง 8 หลัง

สิบกว่าปีก่อน เศรษฐีรัสเซียตระเวนไปในประเทศทางแถบยุโรปตะวันตกเพื่อไปซื้อปราสาท วัง คฤหาสน์ ฯลฯ เอามาไว้ใช้พักผ่อนในยามว่าง ช่วงนั้นเป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง บางคนถึงขนาดพูดว่าซื้อปราสาทในทวีปยุโรปเพื่อเอาไว้ใช้อุจจาระปัสสาวะ เดี๋ยวนี้เศรษฐีรัสเซียก็เริ่มปล่อยทิ้งกันแล้ว เพราะทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว กระแสบ้านหลังใหญ่หรือรถคันใหญ่ลดลงมาก แนวโน้มของโลกปัจจุบัน คนกลับอยากได้บ้านหลังเล็ก และใช้บ้านเป็นเพียงที่ซุกหัวนอน เก็บข้าวของเครื่องใช้เพียงเล็กน้อย ความนิยมมีครอบครัวขนาดใหญ่แทบจะหายไปจากโลกเราแล้วครับ

โอกาสหน้าจะมาเล่ารับใช้เรื่องบ้านร้างกันใหม่ครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com