• ปฏิบัติการค้นหา ยานดำน้ำไททัน จบลงด้วยความเศร้า หลังเจ้าหน้าที่พบเศษซากซึ่งบ่งชี้ว่าเกิดการระเบิดเข้าสู่ภายในตัวเรือทำให้ผู้โดยสาร 5 คนเสียชีวิตทั้งหมด

  • หลังเกิดเหตุได้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่า เหตุใดไททันจึงประสบชะตากรรมเช่นนี้ และเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด

  • ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พนักงานบางคนพยายามออกมาเตือน แต่กลับถูกไล่ออก ขณะที่ซีอีโอของบริษัทกลับมองว่าคำเตือนเป็นความพยายามขัดขวางบริษัทของเขา

ปฏิบัติการค้นหา ยานดำน้ำไททัน ของบริษัท โอเชียนเกต ที่หายไปขณะดำลงไปใต้มหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อชมซากเรือไททานิกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จบลงด้วยความเศร้า เนื่องจากในวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ พบเศษชิ้นส่วนของมันที่ก้นทะเลลึกกว่า 13,000 ฟุต

เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่า จากเศษซากที่พบทำให้เชื่อว่ายานดำน้ำลำนี้สูญเสียแรงดันภายในห้องโดยสาร และเกิดการระเบิดเข้าสู่ภายใน (implosion) หรือเรียกง่ายๆ คือ ถูกแรงดันน้ำบดขยี้ ผู้โดยสารทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งโอเชียนเกต, ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ, ปอล-อองรี นาร์โฌเลต์ นักสมุทรศาสตร์ และนายชาห์ซาดา ดาวูด กับลูกชาย เสียชีวิตทุกคน

หลังเกิดเหตุได้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่า เหตุใดไททันจึงประสบชะตากรรมเช่นนี้ และเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด อดีตพนักงานหลายคนออกมาตั้งคำถามถึงความแข็งแรงของตัวยาน บ้างกล่าวหาซีอีโอผู้ล่วงลับว่าไม่ใส่ใจคำเตือนของพวกเขา และเรื่องที่โอเชียนเกตไม่ได้นำยานไททันเข้ารับการตรวจรับรองความปลอดภัยกับทางการด้วย

...

ในยานดำน้ำไททัน แทบไม่มีอะไรเลย

ยานดำน้ำไททัน มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สูง 2.8 เมตร ยาว 6.7 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ใกล้เคียงกับรถมินิแวน ภายในตัวยานไม่มีเก้าอี้ ผู้โดยสารต้องนั่งบนพื้นซึ่งมีที่ว่างเพียงพอสำหรับ 5 คนเท่านั้นและต้องนั่งสลับฟันปลากัน มีห้องน้ำเล็กๆ ไว้สำหรับทำธุระส่วนตัวเพียง 1 ห้อง นอกจากนั้นยังไม่มีหน้าต่าง ยกเว้นช่องสำหรับส่องดูซากเรือไททานิก

แต่ยานดำน้ำ (submersible) ไม่เหมือนกับเรือดำน้ำ (submarine) ตรงที่มันมีพลังงานสำรองจำกัด และจำเป็นต้องมีเรือสนับสนุนอยู่บนผิวทะเลเพื่อหย่อนมันลงใต้น้ำและนำมันกลับขึ้นมา ซึ่งในกรณีนี้คือเรือ โพลาร์ พรินซ์ (Polar Prince) โดยตามปกติแล้ว ยานดำน้ำจะอยู่ใต้น้ำประมาณ 10-11 ชม.เท่านั้น ขณะที่เรือดำน้ำอยู่ได้เป็นเดือนๆ

ตามข้อมูลจากผู้ผลิตอย่าง โอเชียนเกต ตัวลำของไททันถูกสร้างขึ้นจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์หนาพิเศษและหุ้มด้วยไทเทเนียม พร้อมอุปกรณ์สำหรับสังเกตการณ์ความสมบูรณ์ของตัวยาน แต่ยานไม่มีระบบจีพีเอสใต้น้ำ จึงต้องสื่อสารกับเรือสนับสนุนผ่านข้อความตัวอักษรทุกๆ 15 นาที เพื่อรับเส้นทางการเดินเรือ

ควบคุมด้วยจอยบังคับเกม

ระบบบางอย่างบนยานไททันยังถูกออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ นายเกบ โคเฮน ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็น ผู้เคยนั่งบนยานไททันมาแล้วในปี 2561 ระหว่างการรายงานการสำรวจของโอเชียนเกต เผยว่า ยานลำนี้ควบคุมโดยจอยสติ๊กที่มีลักษณะคล้ายกับจอยบังคับเครื่องเกมเพลย์สเตชัน

ขณะที่ นายแอรอน นิวแมน ผู้ลงทุนกับโอเชียนเกต และเคยนั่งยานไททันไปชมซากเรือไททานิกมาแล้วเมื่อปี 2564 ระบุว่า จอยสติ๊กที่ว่าถูกใช้เพื่อควบคุมแบบไร้สาย และหากการควบคุมระยะไกลล้มเหลว ผู้โดยสารสามารถควบคุมใบพัดผ่านสระบบวงจรภายในได้

นายนิวแมน บอกอีกว่า ยานไททันคงอยู่ใต้ทะเลได้ด้วยตัวถ่วงน้ำหนัก ซึ่งผู้โดยสารสามารถปลดออกได้ด้วยตัวเอง หรือหากเกิดความผิดพลาด มันก็ถูกสร้างให้ปลดตัวออกโดยอัตโนมัติหลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง เพื่อให้ยานกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ

ระบบไฟฟ้าของไททันยังแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภายนอกสำหรับควบคุมใบพัด และภายในสำหรับให้พลังงานอุปกรณ์สื่อสารกับฮีตเตอร์ ซึ่งนิวแมนกล่าวว่า อุณหภูมิภายในยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนจะค่อยๆ เย็นลงในขณะที่มันดำลงไปในมหาสมุทร ซึ่งที่ก้นทะเลมีอุณหภูมิต่ำเกือบถึงจุดเยือกแข็ง

...

ไล่ออกพนักงานที่พยายามเตือนปัญหา

อดีตพนักงานของโอเชียนเกตเคยพยายามเตือนบริษัทเรื่องปัญหาความปลอดภัยของยานไททัน จนเป็นเรื่องฟ้องร้องกันมาแล้วในปี 2561

นายเดวิด ลอคริดจ์ อดีตผู้อำนวยการปฏิบัติการเดินทะเลของโอเชียนเกต ถูกบริษัทไล่ออกและฟ้องร้องในข้อหาละเมิดข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลด้วยการเปิดเผยข้อมูลลับและมีกรรมสิทธิ์ อดีตลูกจ้างรายนี้จึงฟ้องกลับข้อหาไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม โดยระบุว่า ตอนแรกเขาแสดงความกังวลเรื่องปัญหาการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของโอเชียนเกต แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ

ตามเอกสารฟ้องกลับของลอคริดจ์มีเหตุผลหลายข้อที่ทำให้เขาเกิดความกังวล โดยเฉพาะการที่โอเชียนเกตปฏิเสธที่จะดำเนินการการทดสอบแบบไม่ทำลาย เพื่อประเมินคุณภาพและความบกพร่องของตัวยานไททัน ทั้งที่ผู้โดยสารอาจเผชิญกับอันตรายเมื่อตัวยานดำลงไปจนถึงจุดที่ลึกมากๆ ของท้องทะเล

ลอคริดจ์ บอกอีกว่า กระจกด้านหน้าสำหรับชมซากเรือไททานิกถูกออกแบบและได้รับการรับรองว่าทนแรงกดดันน้ำได้ที่ระดับ 1,300 ม.เท่านั้น แต่โอเชียนเกตตั้งใจจะพาผู้โดยสารดำลงไปลึกถึง 4,000 เมตร “โอเชียนเกตปฏิเสธที่จะจ่ายค่าการผลิตเพื่อสร้างช่องชมวิวที่มีคุณสมบัติทนแรงดันได้ที่ระดับ 4,000 ม.” เอกสารฟ้องร้องระบุ

ลอคริดจ์ ยังเคยพยายามแนะนำให้โอเชียนเกตใช้บริการองค์กรจัดประเภทเรือ เช่น สำนักงานการเดินเรืออเมริกัน (ABS) เพื่อตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของไททัน แต่มันไม่เคยเกิดขึ้น และสิ่งที่เขาได้รับตอบแทนคือการถูกไล่ออก

...

ใช้วัสดุไม่ปกติในการสร้างตัวยาน

หนึ่งในส่วนที่ถูกตั้งคำถามหนักมากของยานไททันคือ ส่วนตัวเรือซึ่งใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ในการสร้างแล้วเคลือบด้วยไทเทเนียม ซึ่งไม่ใช่วัสดุปกติที่ใช้ในการผลิตยานพาหนะดำน้ำลึก

ดร.นิโคไล โรเทอร์ดาม อาจารย์วิชาชีววิทยาทางทะเลของมหาวิทยาศาสตร์พอร์ตสมัธ ระบุว่า ตามปกติแล้วส่วนที่มีผู้โดยสารของยานดำน้ำทะเลลึกจะถูกสร้างโดยไทเทเนียมล้วนๆ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ม. เพื่อให้สามารถทนแรงดันมหาศาลใต้สมุทรได้

คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุที่มีราคาถูกกว่าไทเทเนียมมาก และมีความแข็งแรงสูง แต่มันแทบไม่เคยถูกพิสูจน์ในการใช้สร้างยานดำน้ำลึกอย่างไททันมาก่อน ขณะที่ในเอกสารคำฟ้องของ นายลอคริดจ์ อ้างว่า แบบจำลองขนาดเล็กของยานไททันแสดงให้เห็นช่องโหว่ของไฟเบอร์คาร์บอนระหว่างการทดสอบแรงดัน

แต่ในเอกสารการฟ้องร้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โอเชียนเกต ระบุว่า พวกเขาทดสอบการดำน้ำของยานไททันมากกว่า 50 ครั้งแล้ว รวมถึงการดำลงไปในระดับเดียวกับจุดที่ซากเรือไททานิกอยู่ ทั้งในทะเลจริง และในห้องความดัน

...

ไททันไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโอเชียนเกตจะอ้างว่าทดสอบยานไททันมาแล้วหลายครั้ง แต่ยานลำนี้ก็ไม่เคยผ่านการรับรองของหน่วยงานอย่างเป็นทางการจากองค์กรการเดินเรืออย่าง สำนักงานการเดินเรืออเมริกัน, DNV ซึ่งเป็นองค์กรรับรองที่ได้รับความเชื่อถือในระดับนานาชาติของนอร์เวย์ หรือจาก ลอยด์ส รีจิสเตอร์ กรุ๊ป (LR) ของสหราชอาณาจักร

การได้รับการรับรองจากองค์กรเหล่านี้หมายความว่า เรือหรือยานนั้นๆ ได้มาตรฐานในด้านต่างๆ รวมถึง ความมั่นคง, ความแข็งแรง, ความปลอดภัย และการปฏิบัติการ โดยกระบวนการประเมินมีทั้งการทบทวนแบบและการก่อสร้าง, การประเมินผลการทดสอบและทดลอง โดยยานดำน้ำต้องเข้ารับการตรวจเป็นประจำเพื่อดูว่ายังได้มาตรฐานหรือไม่

แต่ไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายว่าต้องขอการรับรองยานดำน้ำ และไททันก็ไม่เคยได้รับการจัดประเภท หรือการรับรองใดๆ โดยโอเชียนเกตโพสต์เอาไว้ในบล็อกของพวกเขาเมื่อปี 2562 ว่า การออกแบบของยานไททันอยู่นอกเหนือระบบที่ได้รับการยอมรับกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าโอเชียนเกตไม่ได้มาตรฐานที่พวกเขาต้องปฏิบัติตาม

โอเชียนเกต ระบุอีกว่า องค์กรรับรองต่างๆ ทำให้การคิดค้นนวัตกรรมช้าลง พวกเขายังระบุในเอกสารยินยอมที่ให้ผู้โดยสารเซ็นด้วยว่า ไททันเป็นยานดำน้ำในขั้นทดลองที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ หรือรับรองจากองค์กรกำกับดูแลใดๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทางกายภาพ, ความรู้สึก หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

สต็อกตัน รัช อดีตซีอีโอของบริษัท โอเชียนเกต หนึ่งในผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมยานดำน้ำไททัน
สต็อกตัน รัช อดีตซีอีโอของบริษัท โอเชียนเกต หนึ่งในผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมยานดำน้ำไททัน

ซีอีโอไม่ยอมฟังเสียงเตือน

ขณะที่ข้อความการโต้ตอบกันระหว่าง นายสต็อกตัน รัช ซีอีโอผู้ล่วงลับของโอเชียนเกต กับผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจทะเล ซึ่งถูกเปิดเผยโดยบีบีซี ยังแสดงให้เห็นว่าซีอีโอผู้นี้ไม่รับฟังคำเตือนใดๆ เลย

บีบีซี เผยแพร่ข้อความอีเมลของ นายร็อบ แมกคอลลัม ที่ส่งถึง นายรัช เมื่อปี 2561 เพื่อเตือนเรื่องความเป็นไปได้ที่ผู้โดยสารยานไททันจะตกอยู่ในความเสี่ยง และเรียกร้องให้เขาหยุดใช้ยานไททันจนกว่าจะได้รับการรับรองจากองค์กรอิสระ

“ผมคิดว่าคุณอาจกำลังทำให้ตัวเองและลูกค้าของคุณเสี่ยงอันตราย” แมกคอลลัม ระบุในข้อความ “การเดินทางไปสู่เรือไททานิกของคุณ คุณกำลังสะท้อนประโยคอันโด่งดังที่ว่า ‘เรือลำนี้ (ไททานิก) ไม่มีวันจม’ ”

แต่ในข้อความตอบกลับ นายรัช แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน “เราได้ฟังเสียงร่ำร้องที่ไม่มีมูลความจริงว่า ‘คุณกำลังจะฆ่าใครบางคน’ บ่อยเกินไปแล้ว” นายรัช ระบุ “ผมจะถือว่านี่เป็นการดูหมิ่นผมอย่างร้ายแรง”

นายแมกคอลลัม ส่งข้อความไปอีกว่า “ผมขอวิงวอนคุณให้ระมัดระวังในการทดสอบและการทดลองในทะเล และทำตามจารีตให้มากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าผมจะชื่นชมความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนานวัตกรรมมากๆ แต่คุณอาจกำลังทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง”

หลังจากนั้นตลอดการแลกเปลี่ยนข้อความของคนทั้งสอง นายรัชพยายามปกป้องความน่าเชื่อถือของตัวเอง และตั้งคำถามถึงกรอบการทำงานที่มีอยู่ในปัจจุบันเรื่องการสำรวจทะเลลึก “ผู้เล่นในอุตสาหกรรมกำลังพยายามหยุดผู้เล่นใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาดเล็กๆ ของพวกเขา” ก่อนที่การถกเถียงจะจบลงที่ทนายความของโอเชียนเกตขู่ว่าจะฟ้องร้องนายแมกคอลลัม.





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnbbc