เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ภูฏาน ดินแดนเปี่ยมมนตร์ขลังในหุบเขาหิมาลัย เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ต้องการของนักเดินทางจากทั่วโลก ด้วยภูมิประเทศที่งดงาม วัดวาอาราม วิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย ภายใต้แนวคิด “ความสุขมวล รวมประชาชาติ” ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากราชอาณาจักรหิมาลัยอันงดงามเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อเดือน ก.ย. 2565 หลังโดนพิษโควิด-19 ไม่ต่างจากที่อื่นในโลกจนต้องปิดพรมแดนมากว่า 2 ปี การเปิดครั้งนี้ยังมาพร้อมกับการปรับขึ้น ค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development Fee-SDF) เป็นกองทุนสำหรับช่วยรักษาภูมิทัศน์ที่บริสุทธิ์งดงามและชดเชยคาร์บอนฟุตปรินต์ที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้เบื้องหลัง จากอัตราเดิมที่เรียกเก็บมาราว 30 ปี อยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,300 บาท เพิ่มเป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เกือบ 7,000 บาท) ต่อคนต่อคืน

เรียกว่าเป็นราคาระดับพรีเมียม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักโดยเฉพาะ หวังลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัดซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนเพียงเศษเสี้ยวของระดับก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด การยืนยันจัดเก็บ SDF อัตราเดิมย่อมไม่ส่งผลดี การท่องเที่ยวภูฏานจึงตัดสินใจ “ลด” ค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักมากกว่า 4 วัน หวังดึงดูดแย่งส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจากเนปาลที่อยู่ใกล้เคียง ตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้จนถึงสิ้นปี 2567 มีกติกาง่ายๆ เพียงแค่นักท่องเที่ยวที่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเวลา 4 วัน จะได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อได้อีก 4 วัน ส่วนผู้ที่จ่าย 12 วัน จะสามารถชื่นชมความสงบสวยงามได้เต็มเดือน

...

มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเยือนภูฏานแล้วมากกว่า 47,000 คน จากเป้าหมายที่วางไว้ 86,000 คน ภายในสิ้นปีนี้ เทียบกับเมื่อปี 2562 ประมาณ 315,600 คน ยังตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 104,311 ล้านบาท โดยไม่ตั้งกรอบเวลา

ผู้สนใจอยากท่องเที่ยวเช็กอินไม่ซ้ำใคร พร้อมงบไม่อั้น ลองพิจารณาภูฏานเป็นอีกทางเลือกได้เลย.

อมรดา พงศ์อุทัย