ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย จบจากสถาบันการศึกษาทางสหกรณ์ รุ่น 12 บรรจุเข้ารับราชการในกองสหกรณ์นิคม กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 16 เมษายน 2524 (ภายหลังลาออกและไปสอบเป็นนายตำรวจ) ความเป็นลูกหม้อสถาบันฯ และของกระทรวงเกษตรฯ ทำให้พ่อตามข่าวสารของกระทรวงและความเป็นไปของเกษตรกรรมโลกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตามลุ้นผลงานของนายประยูร อินสกุล นักศึกษาสถาบันการศึกษาทางสหกรณ์ รุ่น 17 (รุ่นน้องของพ่อ 5 รุ่น) ผู้เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนที่ 31 (คนปัจจุบัน)

การทำงานที่สอดรับกันระหว่างปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง) เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (นายพิศาล พงศาพิชณ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์) ฯลฯ

ทำให้การส่งออกทุเรียนจันทบุรีที่จะสิ้นสุดฤดูกาลในเดือนมิถุนายน 2566 มีเม็ดมียอดถึง 5 แสนตัน มีเม็ดเงินต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากจีน) เข้ามาอยู่ในกระเป๋าสตางค์ของเกษตรกรชาวทุเรียนแล้วหลายแสนล้านบาท ยังมีทุเรียนที่กำลังรอตัดอยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาวของจันทบุรีอีก 60,000 ตัน ไม่รวมมังคุดและผลไม้ประเภทอื่น เช่น มังคุด ลองกองและเงาะ ซึ่งเกษตรกรเก็บหมดได้ภายในมิถุนายนแล้วเช่นกัน

ข้าราชการไทยอีกหลายกระทรวงที่ทำงานกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เช่น พวกด่านศุลกากรจันทบุรีที่ตรวจสอบและซีนตู้ทั้งทางบกและทางเรือ ทำให้การส่งออกทุเรียนและผลไม้ประเภทอื่นเป็นไปได้ราบรื่น สมัยก่อน ทุเรียนจันทบุรีส่งไปเมืองจีนทางเรือ สมัยนี้ นิยมส่งกันทางบก โดยใช้เวลาเพียง 5 วัน ทำให้ทุเรียนจันท์ซึ่งคุณภาพดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว ยิ่งดีจนเป็นที่ต้องการของชาวจีน ขนาดต้องแย่งกันซื้อ อินฟลูเอนเซอร์บางรายขายทุเรียนออนไลน์ในโซเชียลมีเดียจีน ทำรายได้มากมายหลายพันล้านบาทภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

...

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทุเรียนจันทบุรี เกิดจากการทำงานเหมือนเล่นดนตรีในวงออเคสตรา บางกรมเล่นเครื่องสาย บางกรมเล่นเครื่องเป่าลมไม้ บางกรมเล่นเครื่องเป่าทองเหลือง บางกรมเล่นเครื่องกระทบ ฯลฯ โดยมีคอนดักเตอร์เป็นผู้ควบคุมการแสดง เพลงที่มีชื่อว่า ‘การผลิตสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมของชาวจันท์’ จึงไพเราะเพราะพริ้ง มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งโลก

จันทบุรีมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่เข้มแข็ง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดก็ทำงานกันอย่างตัวเป็นเกลียวหัวเป็นนอต หอการค้า ม.ราชภัฏรำไพพรรณี ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี และ ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ก็เข้ามาทำงานการวิจัยให้เกษตรกรใช้นำทาง

สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าธุรกิจเกษตร ไทย-จีน สมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ฯลฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง

ล้งรับซื้อผลไม้ชาวจีนผุดในพื้นที่ของจันทบุรีมากกว่า 500 แห่ง คนจีนจำนวนไม่น้อยหาเช่าสวนระยะยาว หรือซื้อสวน (โดยใช้นอมินี) หรือแต่งงานกับคนไทย เพื่อให้ได้สิทธิในการถือครองที่ดิน ผมผู้เขียนก็แต่งงานกับสตรีจีน จึงได้ทราบการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ของคนจีนเป็นระยะ

ผมไม่เห็นด้วยกับผู้ใหญ่ของไทยหลายท่านที่ออกมาให้ทัศนะว่า “ถึงยังไง คนจีนก็ยกที่ดินออกจากประเทศไทยไปไม่ได้” ผมขอแย้งว่า แม้ว่าจะยกแผ่นดินไปไม่ได้ก็จริง แต่เข้ามาใช้แผ่นดินทำกินได้ ทำให้ที่ดินมีไม่พอสำหรับให้ลูกหลานไทยใช้ทำกิน

รัฐควรให้สถาบันการเงินช่วยเกษตรกรไทยให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปใช้รักษาแผ่นดินของบรรพบุรุษ รวมทั้งใช้ผลิตพืชอาหารเพื่อการบริโภคภายในและเพื่อการส่งออก ควรออกกฎหมายป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติมาใช้แผ่นดินของเราเป็นฐานการผลิต

ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทำกันตั้งแต่ปลูกยันขายได้เมื่อใด

คนไทยจะกลายเป็นคนงานในแผ่นดินของตัวเอง.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com