ปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่สนใจแต่งงานสร้างครอบครัวมีทายาทสืบตระกูล สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้รัฐบาลหลายชาติต้องเร่งขบคิดหานโยบายออกมาแก้ไขให้ตรงจุด หากปล่อยให้บานปลายอาจกลายเป็นวิกฤติประชากรรุนแรง เป็นสังคมสูงวัย เสี่ยงขาดแคลนแรงงานระยะยาว ส่งผลกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ

จีนก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากในอดีตที่บังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวของ “เหมา เจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ อย่างเคร่งครัดเด็ดขาดจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก มาถึงวันนี้จีนในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องหักเลี้ยวเปลี่ยนนโยบายไปในทิศทางตรงกันข้าม อนุญาตให้ประชาชนมีลูกเพิ่มได้ 3 คน หลังอัตราการเกิดของประชากรในประเทศลดต่ำจนถึงขั้นน่ากังวล

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ในปี 2565 มีคู่รักที่ตัดสินใจจูงมือร่วมสร้างครอบครัวด้วยกันเป็นจำนวน 6.83 ล้านคู่ ลดลงราว 10.5% จากจำนวนการจดทะเบียนสมรส 7.63 ล้านครั้งในปี 2564 ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นสถิติการแต่งงานที่ลด “ต่ำที่สุด” เป็นประวัติ การณ์ นับตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 2529 หลังจากเคยมียอดชาวจีนแต่งงานกันมากที่สุดในปี 2556 ด้วยจำนวนบ่าวสาวมากกว่า 13 ล้านคู่ ห่างจากปี 2565 เกือบสองเท่า สื่อของรัฐบาลอย่างโกลบอล ไทมส์ ยังเสริมด้วยว่าอายุเฉลี่ยการแต่งงานของการแต่งงานครั้งแรกของชาวจีนในปี 2563 คือ 28.67 ปี มากขึ้นจาก 24.89 ปีจากเมื่อ 10 ปีก่อน

อาจมีผู้โต้แย้งว่าในช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่ไม่เอื้อต่องานแต่งงานมากนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ มีนโยบายควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด การใช้ชีวิตประจำวันถูกจำกัด มีการล็อกดาวน์ตามเมืองใหญ่น้อย เรียกได้ว่าจีนอยู่ในสภาพถูกปิดตาย ไม่อยู่ในอารมณ์โรแมนติก

...

การแต่งงานที่ลดลงอย่างน่าหวั่นใจ ยังเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกับจำนวนประชากรจีนที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี เมื่อปี 2565 ข้อมูลทางการจีนระบุว่ามีเด็กทารกเกิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สถาปนาเป็น “สาธารณรัฐ ประชาชนจีน” เมื่อปี 2492 ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีประชากร 1.4 พันล้านคน ตามหลังอินเดีย

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลในการสนับสนุนจูงใจการแต่งงานและผลิตทายาทยังไม่สัมฤทธิ์ผล ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถาโถมรุมเร้าทุกรูปแบบ แต่กลับมีสัญญาณบวกในส่วนการหย่าร้างที่ลดลงแม้จะเพียงเล็กน้อย ที่ 2.1 ล้านคู่ ลดลงจาก 2.13 ล้านคู่ในปีก่อน หลังจากออกนโยบายให้มีช่วงเวลาคลายความตึงเครียด (cooling-off) 30 วันสำหรับผู้ที่ยื่นฟ้องหย่ามาตั้งแต่ปี 2564.

อมรดา พงศ์อุทัย