• ปีนี้หลายแบรนด์สินค้าในสหรัฐฯ เข้าร่วมจัดแคมเปญกิจกรรมในช่วง Pride Month เดือนมิถุนายน เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ แสดงถึงภาพลักษณ์ที่มีค่านิยมก้าวหน้า (Progressive Values) ของตัวแบรนด์ โดยใช้สัญลักษณ์สีรุ้งของชาว LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย การออกสินค้ารุ่นพิเศษ 
  • แต่ปรากฏว่ามีหลายแบรนด์เจอกระแสต่อต้านรุนแรงจากผู้บริโภค อย่างเบียร์ Bud Light ที่ร่วมแคมเปญโฆษณากับสาวประเภทสองชื่อดัง ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มไม่พอใจ พากันแบนสินค้า และห้างสรรพสินค้า Target ที่ออกเสื้อผ้าเด็กเล็กคอลเลกชัน Pride Month ทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองมองว่าไม่เหมาะสม และประกาศแบนห้างนี้ 

ปกติแล้วทุกปีที่ผ่านมา Pride Month จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ตระหนักถึงสิทธิและความหลากหลายทางเพศในสังคมปัจจุบัน ขณะที่แบรนด์สินค้าต่างๆ พากันร่วมกระแส จัดกิจกรรมแคมเปญโฆษณาสินค้าในธีมสีรุ้งกันอย่างคึกคัก แต่ปรากฏว่าบรรยากาศในปีนี้มีความแตกต่างออกไป เมื่อหลายแบรนด์ดังของสหรัฐฯ เจอกระแสต่อต้าน จากกลุ่มต่อต้าน LGBTQ+ ส่งผลให้แคมเปญ Pride Month ไม่คึกคักอย่างที่เคยเป็น 

...

โดนต่อต้านเพราะทำแคมเปญโฆษณาร่วมกับทรานส์เจนเดอร์

แคมเปญโฆษณาทางโซเชียลมีเดียของเบียร์ Bud Light เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ร่วมกับ ดีแลนด์ มัลเวย์นี อินฟลูเอนเซอร์สาวข้ามเพศชื่อดังชาวอเมริกัน ที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากกว่า 1.8 ล้านคน เจอฝ่ายอนุรักษนิยมในอเมริกาจำนวนมากออกมาต่อต้าน และเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้าเบียร์ยี่ห้อนี้ 

ฝ่ายต่อต้านแสดงความไม่พอใจคลิปโฆษณาที่มัลเวย์นีย์ ซึ่งสวมชุดเดรสสีดำ พูดคุยกับกล้อง ก่อนเปิดกระป๋องแล้วดื่มเบียร์โชว์ ซึ่งโฆษณานี้เป็นการว่าจ้าง และเป็นหนึ่งในแผนโปรโมตกิจกรรมชิงเงินรางวัลจากเบียร์ยี่ห้อนี้ และต่อมากระแสต่อต้านเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ศิลปินคนดังหลายคนอาทิ ทราวิส ทริตต์ ได้ออกมาชวนให้แฟนๆ ของเขาแบนเบียร์ยี่ห้อนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสอัดคลิปทำลายกระป๋องเบียร์ Bud Light ด้วยวิธีสุดแปลกต่างๆ เพื่อแสดงความไม่พอใจ ส่วนฝ่ายสนับสนุน Bud Light บอกว่ามันก็เป็นแค่โฆษณา และมองว่าฝ่ายที่โกรธแค้นคือพวกที่มีอคติเกลียดชังคนข้ามเพศ (transphobia)

ด้านซีอีโอของ Anheuser-Busch เจ้าของบริษัท Bud Light ออกแถลงการณ์คลุมเครือเรียกร้องให้มีเอกภาพ พร้อมยืนยันว่า พวกเขายังคงสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ โดยทาง Bud Light ประกาศบริจาคเงินให้กับสภาหอการค้า LGBT แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนชาว LGBTQ+ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

ขณะเดียวกัน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่อย่าง Target ก็ตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อฝ่ายขวาและบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กรณีจัดแคมเปญส่งเสริม LGBTQ+ มีการเปิดตัวสินค้าเสื้อผ้าของใช้เด็กเล็กคอลเลกชันสีรุ้ง ทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนคนดังและนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด ออกมาแสดงความไม่พอใจและโจมตีห้างดังว่าทำแบบนี้ไม่เหมาะสม พร้อมออกมาเรียกร้องให้ผู้คนเลิกเข้าห้าง Target ต่อมาทางห้าง Target ได้ตัดสินใจเก็บสินค้า Pride Month ของเด็กออกจากชั้นวาง 

ทางด้านบริษัทที่ปรึกษา Morning Consult เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 4,401 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่า นักดื่มอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแบรนด์ที่ทำแคมเปญร่วมกับกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ ขณะที่ 53% ของผู้ตอบโพลบ่งชี้ว่า พวกเขารู้สึกดีต่อการที่แบรนด์จ้างพรีเซนเตอร์ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ และ 61% มองว่า รู้สึกดีที่แบรนด์ทำโฆษณาแบบว่าจ้างกลุ่มคนที่หลากหลาย

...

ค่านิยมชาวอเมริกันมีแนวโน้มเอียงมาทางฝ่ายอนุรักษนิยม 

แดเนียล คอร์ชัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยเดรกเซิล มองว่า ลูกตุ้มของค่านิยมอเมริกันกำลังแกว่งกลับมาทางอนุรักษนิยมมากขึ้น ทั้งที่ผ่านมาพวกเขาไม่ค่อยแสดงออกเท่าไร ขณะที่เวลาเกิดปัญหา บรรดาผู้บริหารบริษัทต่างก็กำลังหวั่นเกรงมากขึ้นที่จะออกตัวและออกแถลงการณ์ที่แน่ชัด

แม้ว่าการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันยอมรับความหลากหลายมากขึ้น แต่จากผลสำรวจพบว่าในประเด็นการยอมรับคนข้ามเพศ ยังมีปัญหา ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ถึง 43% มองว่าสังคมมาไกลเกินไปแล้ว

Wall Street Journal และ Norc. เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า 33% มองว่าสังคมมาได้ไม่ไกลพอ 23% มองว่าสังคมกำลังมีความพอดีในประเด็นเรื่องการยอมรับเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล ส่วน 29% มองว่ามันมากเกินไปแล้ว   

แคมเปญที่อาจเคยถูกจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ปัจจุบันถูกบุคคลสาธารณะที่ต่อต้านสิทธิของคนรักเพศและผู้สนับสนุนด้วยกันหยิบยกขึ้นมาตำหนิ ทำให้เกิดปัญหาในด้านการสื่อสารองค์กร ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขาย หลายบริษัทละทิ้งโอกาสที่จะเข้าร่วมกระแสสนับสนุน LGBTQ+ เพราะไม่อยากมีปัญหา

จาเรด ท็อดด์ โฆษกสำนักงานมูลนิธิที่องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ที่จัดทำดัชนีความเท่าเทียมทางธุรกิจ (Corporate Equality Index) อันเป็นตัววัดเรื่องการปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ มองว่าหลายกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เริ่มทำให้บริษัทต่างๆ ไม่สบายใจที่จะเข้าร่วม ดังนั้น ในปีนี้บริษัทต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมใน Pride Month จะต้องเตรียมพร้อมที่จะแสดงจุดยืนที่แท้จริงออกมา 

...

ด้านกลุ่ม Human Rights Campaigns เปิดเผยผลการศึกษาของ UCLA School of Law ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ระบุว่า คนข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การโจมตีต่อต้านคนข้ามเพศเกิดขึ้น ในขณะที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายทั่วประเทศต่อคนกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะที่มีการเสนอร่างกฎหมายมากกว่า 200 ฉบับ ที่มุ่งเป้าไปที่คนข้ามเพศและกลุ่มที่มีสำนึกทางเพศไม่ใช่ทั้งชายและหญิง (non-binary)

ซาราห์ เคท เอลลิส ประธานและซีอีโอของ GLAAD บริษัทที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการยอมรับให้กับชุมชนเพศทางเลือกผ่านสื่อต่างๆ ระบุว่า มีการสนับสนุนความพยายามในการประสานงานเพื่อปิดปากชุมชน LGBTQ+ ขณะที่ลูกค้าที่โกรธเกรี้ยวไม่พอใจ มักจะมองข้ามความสนใจหรือถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากการรับรู้ถึงการล่วงละเมิดขององค์กรอื่น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีความพยายามของกลุ่มอนุรักษนิยม ที่จะทำให้กลุ่มคนข้ามเพศ LGBTQ+ เป็นพิษต่อแบรนด์ต่างๆ และทำให้เห็นว่าการถือโอกาสกระโจนเข้าร่วมฉลองสิทธิความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยง เพราะพวกเขาอาจมีราคาที่ต้องจ่าย และอาจเป็นการเสียมากกว่าได้ในเชิงการตลาด. 

...

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล CNN Bloomberg