ในวันอาทิตย์ 21 พ.ค. วันนี้ ตรงกับวันปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มการเมืองโลก 7 ประเทศ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม G7 ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ซึ่งในขณะที่กำลังเขียนคอลัมน์อยู่นี้ การประชุมเพิ่งจะเริ่มต้น แต่บทสรุปก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า จะมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงในกรอบ “การจัดระเบียบโลกใหม่” หรือภาษาที่นุ่มนวลกว่าคือ “ความมีระเบียบเรียบร้อยที่มาจากกฎกติกา”

 ภายใต้การนำทัพของรัฐบาลโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกา กลุ่ม G7 จะแสดงความเป็นเอกภาพใน 2 หัวข้อหลักคือ 1.การเล่นงานรัสเซียเพิ่มเติมด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ ฐานทำลายเสถียรภาพความมั่นคงโลกด้วยการตัดสินใจรุกรานยึดครองดินแดนยูเครน 2.การวางแนวทางรับมือกับภัยคุกคามและความก้าวร้าวของประเทศจีน

อเมริกากำลังเร่งเครื่องเดินเกม “เขียนบท” ให้ชาวโลกรับรู้ว่าใครคือพระเอก ใครคือผู้ร้ายเฉกเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูดในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 ตัวร้ายคนที่ 1 รุกรานประเทศเพื่อนบ้าน นำความหวาดกลัวกลับมาสู่ภูมิภาคยุโรปเฉกเช่นยุคสงคราม ตัวร้ายคนที่ 2 หวังยึดครองไต้หวัน แผ่ขยายอิทธิพลทางการทหาร ทำลายสภาวะที่เป็นอยู่ อีกทั้งตัวร้ายในเรื่องนี้ 2 คน ยังมีความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น ช่วยค้ำจุนกันและกัน จนไม่สามารถจัดการได้อยู่หมัด

 ที่สำคัญบทละครนี้ ไม่จำเป็นต้อง “ปูพื้น” ให้เห็นถึงความเป็นมาของฝั่งตรงข้าม ไม่จำเป็นต้องทราบแบ็กกราวด์ว่าที่ผ่านมา “ตัวร้าย” โดนอะไรมา ทำไมต้องตัดสินใจเช่นนี้ เพราะหากเปิดช่องให้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจ หรือถึงขั้นความเห็นอกเห็นใจ เหมือนเวลาดูหนังบางเรื่องแล้ว เราเกลียดตัวร้ายไม่ลง และอาจบังเกิดความคิดเสียด้วยซ้ำว่า พระเอกก็ไม่ใช่คนดีอะไรขนาดนั้น

...

 อย่างไรก็ตาม การเขียนบทในลักษณะนี้จะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และจะนำไปสู่ซีโร่ ซัม เกม Zero Sum Game ที่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะท่ามกลางบรรยากาศไม่ปกติ โลกกำลังเผชิญกับสงคราม ใหญ่ในยุโรปที่เป็นการปะทะกันอย่างชัดเจนระหว่างสองขั้วมหาอำนาจสงครามเย็น

 แม้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะมีอะไรที่นำพามนุษยชาติกลับไปสู่ความโหดร้ายเฉกเช่นสงครามโลกเมื่อกว่า 80 ปีก่อน แต่องค์ประกอบต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น ก็เปรียบเสมือนพายุที่กำลังก่อตัวตามคำว่าเดอะ แกเธอริง สตอร์ม The Gathering Storm ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มมักใช้คำนี้ในการบรรยายสถานการณ์การเมืองโลกในช่วงก่อนมหาสงครามในยุโรปและเอเชียบรูพา

 เนื่องด้วยทุกฝ่ายกำลังมีการ “จับขั้ว” อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการผนึกกลุ่มเก่า หรือการจัดตั้งกลุ่มใหม่อย่างค่ายตะวันออก ที่นอกจากการผูกสัมพันธ์รัสเซีย-จีนแล้ว ก็ยังประสบความสำเร็จในการรุกคืบเขย่าฐานอำนาจโลก ลดคุณค่าสกุลเงิน “ดอลลาร์” ใช้เงินสกุลทางเลือกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ผลักดันการขยายกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ใช้ช่องความเบื่อหน่ายการเมืองโลกแบบเก่าๆ ดึงชาติตะวันออกกลางและอื่นๆมาเข้าร่วม เพิ่มเติมเพื่อสร้างเสาอำนาจใหม่ ไม่รวมถึงการปลุกศักยภาพเอเชียกลาง ประกาศยกระดับการพัฒนากลุ่มชาติที่ชื่อลงท้ายว่า “สถาน” หวังแปรเปลี่ยนให้เป็นขุมทรัพย์ทางทรัพยากรและพลังงาน

ขณะที่ค่ายตะวันตกก็เห็นได้ชัดว่าเดินกอดคอพันธมิตรไว้แน่น ขยายอิทธิพลองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ดึงชาติยุโรปตะวันออกและสแกนดิเนเวียเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม และวางแผนที่ต่อยอดให้เป็น “นาโต เอเชีย” เล็งจัดตั้งสำนักงานในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเพิ่มฐานทัพในฟิลิปปินส์เป็น 9 ฐาน การใช้เกาหลีใต้เป็น “จุดแวะพัก” ของฝูงเรือดำน้ำติดอาวุธ “นิวเคลียร์” การทำสนธิสัญญาออกัส AUKUS หวังขยายระยะปฏิบัติการของกองเรือออสเตรเลีย และใช้เป็นจุดรวมพลฝูงบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ไม่รวมถึงการจับกลุ่ม QUAD 4 ฝ่าย เพิ่มความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สองขั้วขัดแย้งได้แบ่งฝ่ายเป็นกลุ่ม “สัมพันธมิตร” และกลุ่ม “อักษะ” มาวันนี้ นักการเมืองตะวันตกบางส่วนเริ่มเรียกฝั่งตรงข้ามว่า “กลุ่มอักษะแห่งความชั่วร้าย” กันบ้างแล้ว โลกกำลังนับถอยหลังสู่อะไรเป็นเรื่องยากจะคาดเดา ซึ่งในบรรยากาศอันแสนจะอึมครึมครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคงเป็นคำถามที่ว่า แล้วประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนรัฐบาล จะเผชิญกับอะไรหลังจากจัดสรรอำนาจเสร็จสิ้น และหวนคืนสู่เวทีการเมืองระหว่างประเทศ

เพราะเริ่มที่จะได้ยินเสียงกังวลมากขึ้นว่า กลุ่มการเมืองใหม่ของไทยอาจตัดสินใจที่จะละทิ้งแนวทางการทูตแบบ “ต้นไผ่ลู่ตามลม” ในยุคก่อนๆ เปลี่ยนไปเป็นการทูตแบบ “ยืนหลังตรง” ในเวทีโลก แสดงจุดยืนให้ชัดเจน เลิกที่จะสงวนท่าที กรณีนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จะเลือกหลังตรงเป็นเรื่องๆไปหรือทุกเรื่อง และผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นเช่นไร คือสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด.

...


วีรพจน์ อินทรพันธ์