ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน” มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในเกือบทุกแง่มุม ด้วยเป็นกระบวนการเริ่มต้นที่มีส่วนสำคัญ ต่อพัฒนาการและรากฐานการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุ 9-10 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการพัฒนา ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ครอบคลุมทั้งความรู้ สร้างทักษะในการเข้าใจและตีความ รวมไปถึงความสามารถในการ ประเมิน และคิดวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวต่างๆได้
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเผยแพร่ผลของโครงการประเมินความก้าวหน้าด้าน “การอ่าน” ระดับนานาชาติ หรือ Progress in International Reading Literacy Study-PIRLS โดยสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินสัมฤทธิ์ผลการศึกษา (IEA) ที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี มีวัตถุประสงค์ในการวัดทักษะด้านการอ่านและความเข้าใจเนื้อหา การตีความและความเชื่อมโยงระหว่างข้อความของ นักเรียนเกรด 4 หรือเด็กอายุ 9-10 ขวบ ซึ่งในการประเมินประจำปี 2565 มีผู้เข้าร่วมทดสอบเกือบ 400,000 คน จากสถาบันการศึกษา 12,000 แห่ง ใน 57 ประเทศทั่วโลก และผลปรากฏว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำคะแนนสูงสุดด้วยคะแนนเฉลี่ย 587 คะแนน เขยิบขึ้นมาจากอันดับ 2 เมื่อปี 2559
ตามมาด้วย ฮ่องกง ขยับขึ้นสู่อันดับที่ 2 ด้วยคะแนนเฉลี่ย 573 คะแนน ถือเป็นการรักษาคุณภาพการอ่านของนักเรียนอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 นับแต่ PIRLS เริ่มดำเนินการในปี 2549 หลังจากครองอันดับ 3 ในการทดสอบเมื่อครั้งก่อน ขณะที่แชมป์เก่าเมื่อ 5 ปีก่อน อย่าง รัสเซีย ทำได้เฉลี่ย 567 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 3 ขณะที่นักเรียน อังกฤษ กระโดดจากอันดับ 8 เมื่อคราวก่อนขึ้นสู่อันดับที่ 4 ด้วยสกอร์ 558 คะแนน โดยมี ฟินแลนด์ และ โปแลนด์ ทำ คะแนนเท่ากันเฉลี่ย 549 คะแนน อยู่ที่อันดับ 5 ร่วม
...
ด้านนางสาวหลิว เหว่ย ลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ เผยถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า การอ่านออกเขียนได้เป็นรากฐานของการเรียนรู้และเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ยังให้ทัศนะว่าปัจจัยความสำเร็จมาจากความพยายามของผู้เชี่ยวชาญในกระทรวง รวมทั้งอาจารย์ระดับปรมาจารย์ที่ช่วยปรับปรุงหลักสูตรและเสริมสร้างศักยภาพของผู้สอน ขณะเดียวกันยังให้เครดิตความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และโรงเรียนที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และพัฒนาความสามารถในการเข้าใจและวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ.
อมรดา พงศ์อุทัย