• ขุนคลังออกโรงเตือนสหรัฐฯ มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เส้นตายกำลังจะมาถึงในวันที่ 1 มิ.ย. พร้อมเรียกร้องสภาขยายเพดานหนี้ให้สำเร็จ

  • สหรัฐฯ กู้เงินมาใช้จ่ายจนเต็มเพดานไปตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว จนกระทรวงการคลังต้องงัดมาตรการพิเศษมาใช้เพื่อซื้อเวลา แต่จนถึงตอนนี้ฝ่ายเดโมแครตกับรีพับลิกันก็ยังตกลงกันไม่ได้

  • สหรัฐฯ ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้จริงๆ มาก่อน แต่หากมันเกิดขึ้น นักวิเคราะห์มองว่า จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจในประเทศ และอาจลุกลามไปสู่ระดับโลก

เกมอันตราย ใครถอยก่อนแพ้ ระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับ พรรครีพับลิกันผู้ควบคุมสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เอาไว้ เรื่องการเจรจาเพื่อขยายขีดจำกัดเพดานหนี้สินของประเทศ เข้าสู่ภาวะชะงักงัน เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่ยอมโอนอ่อนในข้อต่อรอง ขณะที่เส้นตายกำลังขยับใกล้เข้ามามากขึ้น

สหรัฐฯ กู้เงินมาใช้จ่ายจนเต็มเพดานไปตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว ทำให้กระทรวงการคลังต้องงัดมาตรการพิเศษออกมาใช้เพื่อให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายต่อไปได้ แต่มาตรการนี้ไม่ได้ไร้ขีดจำกัด

ล่าสุดรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมาเตือนเป็นครั้งที่ 2 ในสัปดาห์นี้ว่า สภาคองเกรสต้องขยายเพดานหนี้ให้ได้เร็วสุดภายใน 1 มิถุนายน มิฉะนั้นรัฐบาลจะไม่เหลือเงินจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงหนี้ธนบัตร และทุกสิ่งทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่ค่าดูแลสวนสาธารณะไปจนถึงเช็คประกันสังคม และอาจขยายวงกว้างไปเป็นวิกฤติการเงินระดับโลก

...

เพดานหนี้คืออะไร

เพดานหนี้ คือ ตัวเลขที่กำหนดโดยสภาคองเกรส เป็นหนี้สินสูงสุดที่รัฐบาลกลางได้รับอนุญาตให้ก่อได้ จากการกู้มาเพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศ ทั้งการจ่ายหนี้สินต่างๆ, ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ, สิทธิประโยชน์ประกันสังคม, เงินเดือนลูกจ้างรัฐและกองทัพ, ประกันสังคม และอื่นๆ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการกู้เกินขีดจำกัด ก็ต้องขยายเพดานหนี้

สหรัฐฯ เริ่มใช้กลไกเพดานหนี้มาตั้งแต่ปี 2450 การขยายเพดานหนี้ทำได้โดยให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโหวตสนับสนุน ซึ่งการโหวตไม่ได้มีข้อผูกมัดเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ เพียงเพิ่มขีดจำกัดที่รัฐบาลสามารถกู้เงินมาจ่ายในสิ่งที่สภาตกลงเอาไว้ก่อนแล้วว่าจะจ่าย

แต่หลายปีที่ผ่านมาทั้งฝ่ายเดโมแครตกับรีพับลิกันกลับนำเรื่องการใช้จ่ายของรัฐบาลมาผูกโยง และใช้เพดานหนี้เป็นข้อต่อรองเพื่อบีบให้ประธานาธิบดีลดค่าใช้จ่าย หรือทำให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ มาถึงจุดนี้

เพดานหนี้ปัจจุบันของสหรัฐฯ อยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลกู้ชนเพดานไปตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้จำเป็นต้องขยายขีดจำกัด ฝ่ายรีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอจะโหวตขยายเพดานหนี้ให้ แลกกับการที่รัฐบาลต้องลดการใช้จ่าย ซึ่งฝ่ายประธานาธิบดีไบเดนกับวุฒิสภาซึ่งอยู่ในมือเดโมแครตไม่ยอม

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าขยายเพดานหนี้ไม่ทัน?

ตอนนี้สหรัฐฯ อยู่ภายใต้มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลยังมีเงินใช้ แต่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง คาดว่าเงินพิเศษนี้น่าจะหมดลงในช่วงต้นเดือนมิถุนายน หรืออย่างเร็วคือในวันที่ 1 มิ.ย. ด้วยซ้ำ

ผลกระทบในกรณีที่สภาคองเกรสขยายเพดานหนี้ไม่ทันยังไม่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เพราะรัฐจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างรัฐบาลกลางและกองทัพได้อีกต่อไป รวมถึงเช็คประกันสังคม การจ่ายเงินบำนาญแก่ชาวอเมริกันหลายล้านคนก็จะหยุดชะงัก บริษัทกับองค์กรการกุศลที่ต้องพึ่งทุนจากรัฐบาลก็จะตกอยู่ในอันตราย

สหรัฐฯ เคยผิดนัดชำระหนี้ในช่วงสั้นๆ มาแล้วเมื่อปี 2522 แต่ตอนนั้นกระทรวงการคลังโทษว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในกระบวนการออกเช็ค จนรอดพ้นวิกฤติมาได้ และยังทำให้ธนบัตรสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ การผิดนัดชำระหนี้สินจะทำให้ความเชื่อมั่นนั้นพังทลาย กระทบต่อเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก

ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดเกิดขึ้นในปี 2556 รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใกล้การผิดชำระหนี้อย่างมาก ก่อนที่สภาคองเกรสลงมติขยายเพดานหนี้สำเร็จในวินาทีสุดท้าย แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลงไป 1%

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของโลกอย่าง มูดีส์ อนาลีติกส์ คาดว่า หากผิดชำระหนี้เป็นเวลานาน จะทำให้ราคาหุ้นของสหรัฐฯ ลดลงเกือบ 1 ใน 5 ขณะที่เศรษฐกิจอาจถดถอยมากกว่า 4% นำไปสู่การสูญเสียของงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่ง และในระยะยาว นักลงทุนจะเริ่มมองหนีสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยง สหรัฐฯ ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐจะสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

...

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ใช้บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 กู้วิกฤติ?

ความหวาดกลัวว่ารัฐบาลกับสภาคองเกรสจะตกลงขยายเพดานหนี้ไม่สำเร็จเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทำเนียบขาวเริ่มพิจารณาใช้ตัวเลือกสุดท้ายอย่าง บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 (14th Amendment) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน โดยโจ ไบเดน ยืนยันว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กฎหมายนี้

เนื้อหาของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ส่วนใหญ่จะเน้นหนักเรื่องการคุ้มครองพลเมืองอย่างเท่าเทียม แต่มาตราที่ 4 ในบทกฎหมายนี้ระบุว่า “ความสมบูรณ์ของการใช้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับอำนาจตามกฎหมาย รวมถึงหนี้ที่ก่อเพื่อจ่ายเงินบำนาญ และค่าแรงสำหรับการทำงานเพื่อหยุดยั้งการจลาจล หรือกบฏ จะไม่ถูกตั้งคำถาม”

นักวิชาการกฎหมายบางคนเชื่อว่าไบเดนอาจใช้กฎหมายนี้เพื่ออ้างว่า ตัวเขามีอำนาจสั่งการให้กระทรวงการคลังจ่ายหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ต้องรอสภาคองเกรสขยายเพดานหนี้ แต่การทำเช่นนี้ ซึ่งรัฐบาลโอบามาก็เคยคิดจะทำมาก่อน แต่ล้มเลิกไป จะนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นศาลอย่างแน่นอน

...

(จากซ้าย) เควิน แมกคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำเสียงข้างมากรีพับลิกัน, คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(จากซ้าย) เควิน แมกคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำเสียงข้างมากรีพับลิกัน, คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ข้อต่อรองของรีพับลิกัน

เมื่อเดือนก่อน ฝ่ายรีพับลิกันเสนอข้อตกลงเพื่อระงับขีดจำกัดหนี้สินชั่วคราวไม่เกิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือจนถึงวันที่ 31 มี.ค. แต่แลกกับการที่รัฐบาลต้องจำกัดการใช้จ่ายของหน่วยงานสำคัญในปีงบประมาณหน้าให้เท่ากับระดับของปี 2565 และจำกัดการเพิ่มค่าใช้จ่ายไม่ให้เกิน 1% ต่อปี ไปตลอด 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์

ข้อตกลงดังกล่าวจะขัดขวางนโยบายสำคัญหลายอย่างของรัฐบาลไบเดน เช่น แผนยกเลิกหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่มีรายได้น้อย และการปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดให้คนหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทำเนียบขาวยังบอกด้วยว่า ข้อตกลงนี้บีบให้ชนชั้นกลางและครอบครัวแรงงานต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่ลดให้แก่กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศ และไม่มีทางที่มันจะกลายเป็นกฎหมายได้.





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : usatodaybbc

...