• ช้างป่าในเอเชียสูญเสียที่อยู่ที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตไปแล้วกว่า 2 ใน 3 ส่วน อันเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานร่วม 300 ปี

  • ถิ่นที่อยู่ของช้างในเอเชียหายไปกว่า 64% โดยจีนเป็นประเทศที่ที่อยู่ของช้างหายไปมากที่สุด ตามด้วยอินเดีย และบังกลาเทศ ส่วนไทยก็หายไปกว่าครึ่ง

  • การเสียถิ่นที่อยู่จำนวนมากยังทำให้โอกาสที่มนุษย์กับช้างจะมาเผชิญหน้ากันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตทั้งสองฝ่ายเป็นประจำทุกปี

ช้างป่าในเอเชียสูญเสียที่อยู่ที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตไปแล้วกว่า 2 ใน 3 ส่วน อันเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานร่วม 300 ปี ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า, ขุดเหมือง การใช้ที่ดินมากขึ้นเพื่อการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน

ช้างในเอเชียถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 43,947 ตัว ถูกพบใน 13 ประเทศทั่วทวีป แต่ป่าและทุ่งหญ้าซึ่งเป็นที่อยู่ของมันกลับหดเล็กลงถึง 64% นับตั้งแต่ ค.ศ. 1700 นำมาโดยจีนเป็นอันดับ 1 ตามด้วยอินเดีย และบังกลาเทศ ส่วนไทยที่อยู่ของช้างก็หายไปกว่าครึ่ง

ทีมนักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ยังพบว่า การเสียถิ่นที่อยู่จำนวนมาก ยังเป็นปัจจัยทำให้โอกาสที่มนุษย์กับช้างจะมาเผชิญหน้ากันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นประจำทุกปี และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ด้วยการวางแผนอย่างเหมาะสม

...

ที่อยู่ของช้างในเอเชียหายไป 2 ใน 3 ส่วน

ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสาร Scientific Reports ของทีมนักวิจัยซึ่งนำโดย ดร.เชอร์มิน เด ซิลวา นักชีววิทยาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1700 จนถึง ค.ศ. 2015 พื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าในเอเชียซึ่งเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของช้าง ลดลงไปมากถึง 64% หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ 3.3 ล้าน ตร.กม. ใหญ่กว่าอินเดียทั้งประเทศ

จีนเป็นประเทศที่ป่าซึ่งเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของช้างลดลงไปมากที่สุดตลอด 300 ปี โดยเหลือพื้นที่อยู่เพียง 65,189 ตร.กม. ในปี ค.ศ. 2015 จากเดิมซึ่งเคยมีร่วม 1 ล้าน ตร.กม. หรือลดลง 94% ทำให้ช้างในจีนได้รับความคุ้มครองเต็มรูปแบบ จนจำนวนประชากรเพิ่มจากประมาณ 200 ตัว เป็น 300 ตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ประเทศที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของช้างลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ อินเดีย จากเดิมที่มีพื้นที่มากถึง 1.6 ล้าน ตร.กม. เหลือไม่ถึง 2.5 แสน ตร.กม.แล้ว คิดเป็น 86% ส่วนลำดับ 3 คือ บังกลาเทศ ซึ่งพื้นที่ลดลงเกือบ 72% จาก 44,046 ตร.กม. เหลือ 12,405 ตร.กม.เท่านั้น

ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ประเทศไทย การหายไปของที่อยู่อาศัยของช้าง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1950-1990 โดยลดลง 67% จาก 480,413 ตร.กม. เหลือ 158,331 อันเป็นผลจากการตัดไม้ และการขยายอุตสาหกรรมการเกษตร

นอกจากนั้น ในหลายประเทศอย่าง เวียดนาม, เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย, ภูฏาน, เนปาล และศรีลังกา ก็มีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของช้างลดลงมากกว่า 50% แต่ส่วนใหญ่ของพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีช้างร่อนเร่ไปมาอยู่จนถึงทุกวันนี้

มนุษย์ตัวแปรสำคัญทำลายธรรมชาติ

นักวิจัยพบว่า แหล่งที่อยู่อาศัยของช้างลดลงเร็วขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ. 1700 ซึ่งตรงกับช่วงการล่าอาณานิคมในเอเชียของชาติยุโรป ทำให้เกิดการตัดไม้, ถางป่า, สร้างถนน และขุดเจาะทรัพยากรต่างๆ อย่างกว้างขวาง และมนุษย์ก็เริ่มหันไปทำการเกษตรในพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่ามากขึ้น

ยุคนี้ยังทำให้เกิดระบบคุณค่า, กลไกตลาด และนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลชาติยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบไกลจนถึงป่าในเอเชีย เร่งให้การสูญเสียที่อยู่ของช้างเร็วขึ้น และทำให้เกิดการกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย “ในปี 1700 ช้างตัวหนึ่งอาจสามารถเดินร่อนเร่ไปในพื้นที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของมันได้มากถึง 45% ของพื้นที่ที่มีอยู่ โดยไม่ถูกรบกวนใดๆ แต่ในปี 2015 มันกลับสามารถเดินไปได้เพียง 7.5% ของพื้นที่ที่ดังกล่าวเท่านั้น” รายงานระบุ

ประเทศที่มีประชากรช้างป่าเหลืออยู่มากที่สุดในเอเชียใต้อย่าง อินเดียกับศรีลังกา ถูกเปลี่ยนสภาพไปในยุคอาณานิคม การสร้างถนนและตัดไม้ทำให้ช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ถูกกำจัดไปจากเนินเขาสูงและป่าฝนลุ่มต่ำ ซึ่งกลายมาเป็นสถานที่เพาะปลูกทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยของมนุษย์

ดร.เด ซิลวา กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว กับการปฏิวัติระลอก 2 ในช่วงกลางศตวรรษก่อน ผลักดันให้ที่อยู่ของช้างป่าหายไปมากขึ้น “เราสังเกตเห็นว่าในบางพื้นที่อย่าง ไทยกับจีน การสูญเสียของที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากทศวรรษที่ 1950s ยุคอาณานิคมทำให้พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่เกิดขึ้นในเอเชียใต้ไปแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาเกิดจากการทำการเกษตรขนาดใหญ่”

...

ผลกระทบที่จะตามมา

ปัจจุบันนี้เหลือพื้นที่ป่าที่มีช้างอยู่ไม่ถึง 50% ที่มีทรัพยากรเพียงพอรองรับพวกมัน ส่งผลให้ช้างป่าต้องออกมานอกเขตที่อยู่เพื่อหาอาหาร และบ่อยครั้งที่พวกมันเข้าไปในเขตที่มนุษย์อาศัย ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนั้นการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ปัญหาทางสังคมและการเมืองเป็นมีส่วนทำให้ช้างเสียที่อยู่อาศัยอย่างกะทันหัน เช่นในวิกฤติโรฮีนจาเมื่อปี 2017 ชาวโรฮีนจาจากเมียนมาจำนวนมากอพยพหนีการปราบปรามของกองทัพเข้าสู่บังกลาเทศ และตอนนี้ ผู้ลี้ภัยกว่า 1 ล้านคนก็อาศัยอยู่ที่ค่ายอพยพ ค็อกซ์ บาซาร์ ซึ่งอยู่ในจุดที่เคยเป็นบ้านของช้างป่า

การมีอาหารไม่เพียงพอยังอาจทำให้ช้างต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น เช่นในปี 2021 เกิดภาพที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อช้างโขลงหนึ่งอพยพออกจากเขตอนุรักษ์ในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเดินทางยาวเป็นระยะทางกว่า 500 กม. เหยียบย่ำไร่นา เดินตะลอนผ่านเมืองต่างๆ สร้างความเสียหายไม่น้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายอย่างมากต่อสังคมมนุษย์ ที่แทบไม่เคยมีประสบการณ์รับมือกับช้างป่ามาก่อน โดยตามรายงานของกองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก (WWF) แค่ที่อินเดียประเทศเดียว การเผชิญหน้ากันในเรือกสวนไร่นาก็มักทำให้มีมนุษย์ 100-300 คน กับช้าง 40-50 ตัว ถูกฆ่าเป็นประจำทุกปี

ผลการศึกษายังชี้ว่า พื้นที่อนุรักษ์ในเอเชียมักมีขนาดเล็ก และอยู่ในพื้นที่ขรุขระบนเนินเขาสูง ซึ่งไม่เพียงพอรองรับประชากรช้าง

ทีมวิจัยระบุว่า ความท้าทายที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญคือ การรักษาสมดุลระหว่างการดำรงชีพของมนุษย์ กับสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า การฟื้นฟูการบริหารจัดการที่ดินกับการดูแลพื้นที่ป่าโดยคนท้องถิ่น ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ให้รองรับทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnn , theconversation , rfa

...