เคยมีการวิจัยแสดงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของการกินบรอกโคลี ที่มีส่วนในการลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น มะเร็งชนิดต่างๆ และเบาหวาน ประเภทที่ 2 ล่าสุด งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Laboratory Investigation เปิดเผยว่า บรอกโคลีมีโมเลกุลเฉพาะ ทำปฏิกิริยากับเยื่อบุลำไส้เล็กและป้องกันการลุกลามของโรค หลังทำการวิจัยกับลำไส้ของหนูทดลอง ที่พบว่าสิ่งนี้ช่วยปกป้องเยื่อบุลำไส้เล็ก

รู้กันดีว่าผนังลำไส้เล็กช่วยทำให้สารที่เป็นประโยชน์ เช่น น้ำและสารอาหารผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้เศษอาหารและแบคทีเรียที่อาจก่อโรคเข้ามา งานวิจัยพบว่าโมเลกุลในบรอกโคลีที่ชื่อ ลิแกนด์ของแอริลไฮโดรคาร์บอนรีเซฟเตอร์ (AHR) นำไปสู่กิจกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ในลำไส้ นักวิจัยทดลองให้อาหารแก่หนู เป็นเมนูที่มีบรอกโคลี 15% เทียบเท่ากับ 3.5 ถ้วยต่อวันสำหรับมนุษย์ และให้อาหารหนูอีกกลุ่มแบบไม่มีบรอกโคลี เมื่อวิเคราะห์เนื้อเยื่อของสัตว์ก็พบว่าหนูที่ไม่ได้กินบรอกโคลีขาดกิจกรรมของโมเลกุล AHR ส่งผลให้การทำงานของสิ่งกีดขวางในลำไส้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เวลาในการขนส่งอาหารในลำไส้เล็กลดลง จำนวนเซลล์ที่เยื่อบุผิวที่ลำไส้เล็กและเมือกป้องกันลดลง เซลล์ที่ซ่อนในหลืบของผิวลำไส้ลดลง จำนวนเซลล์ที่ก่อตัวเป็นเยื่อบุลำไส้ที่สามารถดูดซึมได้ก็ลดลงเช่นกัน

การวิจัยชี้ว่าบรอกโคลีและอาหารอื่นๆ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว มีแนวโน้มเป็นแหล่งธรรมชาติของ AHR ได้ และอาหารที่อุดมด้วย AHR เหล่านี้มีส่วนช่วยให้ลำไส้เล็กมีความยืดหยุ่น ปรับรูปแบบการเผาผลาญอาหารของลำไส้ จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเพื่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน.