ก่อนที่ “แมคโดนัลด์” จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นแบบของอาหารขยะที่ทำลายสุขภาพ เพราะคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีแต่ไขมัน, น้ำตาล, เกลือ และแคลอรีสูงปรี๊ด ธุรกิจเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้เคยเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอเมริกันและทุนนิยมจ๋า ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบุกยึดหัวหาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“แมคโดนัลด์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1940 โดยสองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ “ริชาร์ด” และ “มอริส” ทั้งคู่ย้ายจากนิวอิงแลนด์มาเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์แบบไดรฟ์ทรูในเมืองซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเริ่มนำระบบบริการด่วนทันใจมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1948 ทุกอย่างในร้านถูกเซตอย่างเป็นระบบประหนึ่งสายการผลิตในโรงงานรถยนต์ ยุคแรกเริ่มมีเมนูให้ลูกค้าเลือก 9 อย่าง ทุกอย่างเสิร์ฟในจานกระดาษพร้อมมีดส้อมพลาสติก ไม่มีที่นั่งในร้าน เน้นจุดเด่นอาหารราคาถูกมาก และสามารถเสิร์ฟถึงมือลูกค้าในเวลา 60 วินาที

แม้จะเริ่มธุรกิจแบบบ้านๆ แต่ระบบบริการด่วนทันใจของแมคโดนัลด์สะดุดใจ “เรย์ คร็อก” เซลส์แมนจำหน่ายเครื่องปั่นมิลค์เชคเข้าอย่างจัง จนอาสาเข้ามาปลุกปั้นแมคโดนัลด์ให้สยายปีกทางธุรกิจ คร็อกเขียนในอัตชีวประวัติว่า ผมรู้สึกเหมือนผมเป็นนิวตัน ตอนโดนมันฝรั่งไอดาโฮตกใส่หัวยังไงยังงั้น สิ่งที่เห็นตรงหน้าคืออนาคต และอนาคตในจินตนาการของเขาคือการเห็นร้านแมคโดนัลด์เปิดอยู่หัวถนนของทุกสี่แยก

ถึงจะสั่งซื้อเครื่อง ปั่นมิลค์เชคจากคร็อกไปแล้ว 8 เครื่อง แต่พี่น้องแมคโดนัลด์กลับไม่สนใจไอเดียของคร็อกแม้แต่น้อย เพราะธุรกิจของทั้งคู่กำลังไปได้สวยและเริ่มขายแฟรนไชส์ไปแล้ว 2-3 แห่ง จึงไม่คิดอยากเหนื่อยเพิ่ม แต่ด้วยลูกตื๊อของคร็อกที่พยายามโน้มน้าวจนสำเร็จ ทำให้พี่น้องแมคโดนัลด์ยอมมอบสิทธิ์การขายโมเดลธุรกิจนี้ให้เขาแต่เพียงผู้เดียว คร็อกวางแผนขายแฟรนไชส์ในราคา 950 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเขาจะได้ส่วนแบ่งอีก 1.9% จากยอดขายรวมของแต่ละสาขา ซึ่งครึ่งหนึ่งตกเป็นของพี่น้องแมคโดนัลด์ เมื่อผลประโยชน์ลงตัว ร้านแฟรนไชส์สาขาแรกของคร็อกก็เปิดบริการในปี 1955 และกลายเป็นต้นแบบของแมคโดนัลด์ยุคใหม่

...

หากปราศจากวิสัยทัศน์ของ “เรย์ คร็อก” แมคโดนัลด์อาจเป็นแค่ร้านอาหารเล็กๆในท้องถิ่นที่ป่านนี้คงเลิกกิจการไปแล้ว เพราะแม้สองพี่น้องจะมีไอเดียและพรสวรรค์การทำแฮมเบอร์เกอร์ แต่พวกเขาไม่มีความมุ่งมั่นเหมือนคร็อกที่จะเปลี่ยนธุรกิจเล็กๆให้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก

ในยุคที่ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นธุรกิจทำกันแบบขอไปที คุณภาพอาหารไม่คงเส้นคงวา และใช้ส่วนผสมคุณภาพต่ำ คร็อกเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารจานด่วนทั้งหมด โดยเซตมาตรฐานทุกอย่างขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะกินแมคโดนัลด์ที่ไหนในอเมริกาก็จะต้องได้รับอาหารและบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ คร็อกยังเป็นผู้คิดค้นการแบ่งงานในครัวออกเป็นส่วนย่อยๆที่ใครก็สามารถทำแทนกันได้ เพื่อให้อาหารทุกจานถูกเสิร์ฟด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์, เฟรนช์ฟรายส์ หรือมิลค์เชค เขามักย้ำเสมอว่ากุญแจไปสู่ความสำเร็จของแมคโดนัลด์ยุคใหม่อยู่ที่ความสะอาดและมาตรฐานที่คงเส้นคงวา ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแฟรนไชส์

ในขณะที่บริษัทกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แมคโดนัลด์กลับประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก จนต้องพลิกเกมสู้ด้วยการตั้งบริษัทอสังหาฯ ทำหน้าที่ซื้อที่ดินเพื่อปล่อยให้ลูกค้าแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์เช่าต่ออีกที ผลลัพธ์ที่ได้คือแมคโดนัลด์กลายเป็นเครื่องผลิตเงินที่ทำรายได้อู้ฟู่จากธุรกิจอสังหาฯ แทนที่จะก้มหน้าก้มตาขายแฮมเบอร์เกอร์ราคา 15 เซ็นต์ ต้องให้เครดิตเต็มๆกับทนายความสมองเพชร “แฮร์รี เจ. ซอนบอร์น”

เมื่อเริ่มมองเห็นอนาคตก็ถึงเวลาสลัดสองพี่น้องแมคโดนัลด์ที่ถ่วงความเจริญ พวกเขาเรียกร้องเงินคนละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแลกกับการขายกิจการ คร็อกวิ่งหาเงินด้วยความยากลำบาก แต่ก็คุ้มค่ากับความเหนื่อย เพราะหลังจากมีอิสระในการทำธุรกิจเต็มร้อย เขาบรรลุเป้าหมายสามารถขยายสาขาแมคโดนัลด์ไปทั่วอเมริกา และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 1965 ขึ้นแท่นเป็นธุรกิจเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา และสยายปีกขยายธุรกิจไปทั่วทุกมุมโลก จนปัจจุบันมีสาขามากกว่า 40,000 สาขา ใน 100 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงาน 200,000 คน.

มิสแซฟไฟร์