เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพิ่มอายุเกษียณแล้วในช่วงเช้ามืดวันเสาร์ ไม่สนเสียงประท้วงของประชาชนที่ดำเนินมากว่า 3 เดือน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปีตามแผนปฏิรูปของเขาแล้ว เมื่อช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 15 เม.ย. 2566 ตามเวลาท้องถิ่น โดยไม่สนเสียงประท้วงของประชาชนที่ดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 3 เดือน

แผนเพิ่มอายุเกษียณดังกล่าวกลายเป็นกฎหมายหลังจากมันถูกเผยแพร่ผ่านวารสารทางการของรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงก่อนรุ่งสาง เรียกเสียงประณามจากฝ่ายค้านที่กล่าวหานายมาครงว่า ทำตัวเหมือนโจรลักลอบผ่านกฎหมายในเวลากลางคืน

การผ่านกฎหมายของนายมาครงยังเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันศุกร์ ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดการประท้วงระลอกใหม่ในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยมีรายงานเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นบางจุดด้วย

ด้านสหภาพแรงงานต่างๆ ประณามการกระทำของมาครงว่าเป็นการดูถูกประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายนี้มาตลอด 3 เดือน พร้อมเตือนว่า พวกเขาจะจัดการประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงาน 1 พ.ค.

ทั้งนี้ ความนิยมของนายมาครงอยู่ในระดับเกือบต่ำที่สุดตลอดกาล และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากไม่พอใจการตัดสินใจของเขา ที่ใช้อำนาจพิเศษผลักดันกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาณผ่านรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่ต้องมีการลงมติ ขณะที่ผลโพลหลายสำนักชี้ว่า ชาวฝรั่งเศสถึง 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับการต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี

อย่างไรก็ตาม นายมาครงอ้างว่า การปฏิรูปนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดดุลของเงินบำนาญรายปีซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.35 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2573 นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังถือเป็นประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำมากในหมู่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย หลังจากหลายประเทศปรับอายุเป็น 65 ปีหรือมากกว่าแล้ว

...

ที่มา : cna