เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าการสูดดมอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว หรือที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่สามารถเข้าไปในทางเดินหายใจทะลุผ่านไปถึงภายในปอดได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเช่น การระคายเคืองตา จมูก คอ และปอด ไอ จาม น้ำมูกไหล และหายใจถี่ ไปจนถึงปัญหาร้ายแรง ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงมะเร็งปอด

แต่จากผลการศึกษาใหม่โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ นำโดยมาร์ค ไวส์คอปฟ์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและสรีรวิทยาสิ่งแวดล้อม ที่เผยแพร่ ในวารสารการแพทย์ BMJ เมื่อสัปดาห์ก่อน ชี้ให้เห็นพิษสงของมลพิษทางอากาศที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม

ปัจจุบันมีประชากรราว 57 ล้านคนทั่วโลกมีภาวะสมองเสื่อม จัดเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพที่ยังแก้ไม่ตกเนื่องจากยังไม่มีการรักษาเพื่อหยุดภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยได้ ขณะที่ยังมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 153 ล้านคน ภายในปี 2593 และมากกว่า 40% ของผู้ป่วยเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจแก้ไขได้ อย่างเช่น การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ศาสตราจารย์ไวส์คอปฟ์ระบุว่า ถ้าเราลดการสัมผัสกับอนุภาคเหล่านี้ได้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้

ในการศึกษาครั้งนี้นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบหลักฐานที่สอดคล้องกันระหว่างความสัมพันธ์ของ PM 2.5 กับภาวะสมองเสื่อม และสรุปว่า ความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มสูงขึ้น 17% เมื่อมีการสัมผัสสูดเอา PM 2.5 มากขึ้นโดยเฉลี่ย 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ไม่ต่างจากสารไนโตรเจนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน โดยมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2% และ 5% ตามลำดับสำหรับการสูดดมทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

...

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศมีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร แต่ผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมติฐานว่า เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กมากเข้าสู่ร่างกายแทรกซึมไปในระบบไหลเวียนโลหิต อาจไปกระตุ้นสมองบางส่วน หรืออนุภาคขนาดจิ๋วเมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถกระตุ้นการอักเสบในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น หัวใจและปอด รวมไปถึงเซลล์สมอง จนนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในที่สุด รู้อย่างนี้แล้วคงต้องใส่หน้ากากอนามัยกันต่อไปอีกยาว.

อมรดา พงศ์อุทัย