การเผชิญหน้าระหว่างขั้วอำนาจตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ กับขั้วอำนาจตะวันออกจีน-รัสเซีย นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกขณะ และไม่มีสัญญาณว่าจะญาติดีกันได้ในเวลาอันสั้น

สภาพการณ์ ณ เพลานี้ ถ้าให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ ฝ่ายหนึ่งพยายามรักษาฐานอำนาจและคงไว้ซึ่งระเบียบโลก หรือภาษาสวยงามคือ ความมีระเบียบเรียบร้อยที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าถึงเวลากันเสียทีที่โลกควรจะมีแกนอำนาจหลายแกน ไม่ใช่ถือครองไว้เพียงฝ่ายเดียว

นับตั้งแต่มหาโศกนาฏกรรม “สงครามโลกครั้งที่ 2” สิ้นสุดลงเมื่อปี 2488 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากความพังพินาศวอดวาย ภูมิภาคต่างๆไม่ว่ายุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาเหนือ ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของสหรัฐฯที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม

แถมมาด้วยข้อตกลง “เบรนตัน วูดส์” ประเทศต่างๆยินยอมที่จะยกเลิกการกำหนดค่าเงินเองหรือการใช้ทองคำหนุนหลัง และนำเงินสกุลของตัวเองไปผูกติดกับเงินสกุล USD “ดอลลาร์สหรัฐฯ” โดยที่ดอลลาร์จะเป็นเงินสกุลเดียวที่มีทองคำหนุนหลัง ทั้งยังมีเงื่อนไขด้วยว่า ทุกชาติจำเป็นต้องผูกค่าเงินของตัวเองไว้กับทองคำหรือเงินสกุลดอลลาร์ และสามารถนำเงินดอลลาร์ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนเป็นทองได้ในอัตรา 35 ดอลลาร์ ต่อ 1 ออนส์ (31 กรัม)...เงินดอลลาร์กลายเป็นสื่อกลางในการทำการค้าระหว่างประเทศ

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ความมั่งคั่งต่างไหลบ่าไปยังสหรัฐฯ จนกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก และถึงต่อมาระบบเบรนตัน วูดส์จะล่มสลายไปในปี 2514 สมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จากการประกาศยกเลิกใช้ทองคำหนุนหลัง แต่ดอลลาร์ก็ยังคงครองบัลลังก์เงินสกุลหลักของโลกต่อไปด้วยกลไกสำคัญสองประการ นั่นคือ การเอาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯไปขายให้ประเทศอื่นผ่านรูปแบบพันธบัตรรัฐบาล

...

และระบบเปโตรดอลลาร์ การตกลงกับกลุ่มชาติส่งออกน้ำมันหลักของโลก ซาอุดีอาระเบีย คูเวต บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และโอมาน ให้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเพียงสกุลเดียวในการซื้อขาย “น้ำมัน” แลกกับผลประโยชน์และความคุ้มครองทางความมั่นคง ทั้งหมดนี้ทำให้ทุกอย่างราบรื่นต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้สหรัฐฯจะบริหารยับเยินเพียงใด ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเพียงใดก็ไม่มีปัญหา เพราะยังไงทุกคนก็ต้องใช้ดอลลาร์อยู่ดี

แน่นอนสำหรับขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้าม ซึ่งสะสมพลังและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมานับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นก็พยายามหาทางออกมาตลอดในเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน อย่างกลุ่มความร่วมมือ BRICs ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เคยมีการเสนอไอเดีย “เงินสื่อกลางตัวใหม่” หรือการซื้อขายด้วยเงินสกุลของประเทศตัวเอง แลกเปลี่ยนกันโดยตรง แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างปรากฏชัด

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า “จุดเปลี่ยน” อาจจะมาถึงแล้วก็เป็นได้ จากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย หลังนานาชาติได้ประสบพบเจอกลไกสุดโต่งของสหรัฐฯและชาติตะวันตกที่พยายามตัดขาดรัสเซียจากระบบธนาคารการเงินโลก พร้อมทั้งยึดเงินทุนสำรองสกุลดอลลาร์ของรัสเซียไว้กว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 10.2 ล้านล้านบาท

อีกทั้งสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกเองก็มีท่าทีสุดโต่งมากขึ้นว่าจะกำหนดระเบียบโลกใหม่ ใครที่ไม่เข้าพวก ไม่ทำตาม หรือขัดขวางผลประโยชน์ ย่อมเจอดี (ขนาดพันธมิตรเก่าแก่อย่างฝรั่งเศสยังถูกดัดหลังเรื่องการขายเรือดำน้ำแก่ออสเตรเลีย) ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้หรือไม่ ที่หลายคนจะเริ่มมองว่า หากวันหนึ่งเป็นตัวเองจะทำเช่นไร

จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่จะทำให้กระบวนการ “ลดการพึ่งพาดอลลาร์” ถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีหัวหมู่ทะลวงคือมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่ประเดิมทำการค้ากับรัสเซียด้วยการใช้สกุลเงิน RMB “หยวน” โดยตรง การเสนอทางเลือกครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกต่อมาจากหลายประเทศในการใช้เงินหยวนทำการค้ากับรัสเซีย อินเดีย บราซิล อิหร่าน ทั้งยังเปิดช่องให้มีการเจรจาตกลงกันเพิ่มเติมว่าจะค้าขายกันด้วยเงินสกุลรูปีของอินเดียหรือรูเบิลรัสเซียก็ทำได้

ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา “บราซิล” เริ่มเก็บเงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นอันดับ 2 รองจากดอลลาร์ บริษัทพลังงานของ “ฝรั่งเศส” ปิดดีลการซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากจีนด้วยเงินสกุลหยวนโดยตรง ขณะที่รัฐบาล “ซาอุดีอาระเบีย” แกนนำหลักของระบบ เปโตรดอลลาร์ก็ประกาศจุดยืนเป็นครั้งแรกว่าพร้อมที่จะเปิดทางให้ใช้เงินสกุลอื่นๆนอกจากดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า ซาอุฯนำไปแล้ว ประเทศอาหรับอื่นๆจะดำเนินรอยตามไปด้วย

ปัจจุบันสหรัฐฯมีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมหาศาลถึง 31.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,074 ล้านล้านบาท แต่ด้วยการที่เงินสกุลดอลลาร์เป็น “ของมีค่า” จึงยังสามารถอยู่รอดในฐานะประเทศต่อไปได้ แต่ถ้าวันหนึ่งดอลลาร์ถูกลดคุณค่าลง ก็หนีไม่พ้นที่สหรัฐฯจะต้องได้รับผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเอง

...

กระนั้น ชาติพญาอินทรีที่กำหนดทิศทางโลกมานานเกือบ 80 ปี คงไม่มีทางยอมแพ้ไปง่ายๆ จะต้องมีการตอบสนองในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งต้องรอดูกันว่าจะใช้ความแยบคายหรือท้าชนโดยตรง.

วีรพจน์ อินทรพันธ์