วันเสาร์สบายๆอันร้อนอบอ้าวนี้ ผมขอพาท่านผู้อ่านไปเที่ยว “อียิปต์” ประเทศที่ตั้งอยู่ในทะเลทรายซาฮารากันนะครับ อียิปต์มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมตั้งแต่ 5 พันปีก่อน เก่าแก่ไม่แพ้อารยธรรมอันรุ่งเรืองของจีนในอดีต ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ทรายกว่า 9 ล้านตารางกิโลเมตร และแห้งแล้งที่สุด มีแต่ทรายและหินทรายสุดสายตา ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่จึงอาศัยอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำไนล์ เส้นเลือดใหญ่ของอียิปต์ แต่มีพื้นที่ริมแม่น้ำเพียง 40,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่แถวคลองสุเอซในขณะที่อียิปต์มีประชากรมากกว่า 104 ล้านคน
รายได้ต่อหัวของประชากรอียิปต์ ปัจจุบันอยู่ที่ 4,504 ดอลลาร์ อยู่อันดับ 117 ของโลก เทียบกับคนไทยที่มีรายได้ต่อหัว 7,631 ดอลลาร์ อียิปต์จึงเป็นประเทศยากจนยิ่งประเทศหนึ่ง
รายได้ส่วนใหญ่ของอียิปต์มาจาก ภาคบริการและการท่องเที่ยวถึง 51% ในช่วง 3 ปีที่เกิดโควิดระบาด รายได้จากการท่องเที่ยวของอียิปต์หายไปโดยสิ้นเชิง ผมเพิ่งไปเที่ยวอียิปต์มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เที่ยวแบบรวบรัดเพียง 4 วัน ใน 3 เมืองหลักคือ Luxor, Abu Simbel และ Cairo สนามบินไคโรกว้างใหญ่มาก รันเวย์กลางทะเลทรายก็สุดลูกหูลูกตา แต่มีเครื่องบินมาลงน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นสายการบินอียิปต์ สายการบินเอมิเรตส์ ในประเทศอาหรับด้วยกัน แม้นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาบ้างแล้ว แต่เป็นชาวยุโรปเป็นหลัก มีหนุ่มสาวจีนที่เป็นคนรุ่นใหม่บ้าง คนไทยบ้าง แต่ก็ยังน้อย
ตลอดเส้นทางจากสนามบินไปสู่ที่พักโรงแรมระดับห้าดาว เราได้เห็นสภาพความยากจนตลอดเส้นทาง เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เคยพานักท่องเที่ยวล่องแม่น้ำไนล์ ก็จอดร้างซ้อนลำกันที่ท่าเรือ บางลำก็ทรุดโทรมมาก บางลำก็เพิ่งทำความสะอาด เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวรอบใหม่ มื้อค่ำที่เราลงเรือไปชมพระอาทิตย์ตกภูเขาทะเลทรายในแม่น้ำไนล์ที่ลักซอร์ มีเรือเราเพียงลำเดียว เท่านั้น ที่แล่นอยู่บนแม่น้ำไนล์ตลอดเส้นทางไปกลับ เพื่อนฝูงที่ออกไปวิ่งออกกำลังชมเมืองในตอนเช้า ชาวพื้นเมืองที่พบต่างก็กล่าวขอบคุณนักท่องเที่ยวที่กลับมา เพราะการท่องเที่ยวคือรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของเมืองลักซอร์
...
วันนี้ผมจะปูพื้นเรื่องปัจจุบันของอียิปต์กันก่อนนะครับ จะได้รู้จักประเทศอียิปต์ดีขึ้น ความล่มสลายของเศรษฐกิจอียิปต์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ล้วนเกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพทั้งสิ้น ผู้นำอียิปต์คนปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาฟ์ อัล-ซีซี ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อปี 2561 ด้วยคะแนนเสียงกว่า 92% ประธานาธิบดี อัล–ซีซี ขึ้นเป็นผู้นำอียิปต์ต่อจาก ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ที่ถูกกองทัพปฏิวัติ หลังได้รับเลือกตั้งขึ้นครองอำนาจเพียง 1 ปี ต่อจาก อดีตประธานาธิบดี ฮอสนีย์ มูมบารัก ที่ถูกประชาชนลุกฮือโค่นล้มในยุคอาหรับสปริงปี 2553 วันนี้ก็เริ่มมีเสียงบ่นจากประชาชนแล้ว เมื่อไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจและความยากจนได้
อียิปต์เคยมีการก่อการร้าย การรักษาความปลอดภัยจึงเข้มข้นมาก รู้สึกได้ตั้งแต่ที่สนามบิน การเข้าออกทุกประตูต้องเอากระเป๋าเข้าเครื่องเอกซเรย์ ต้องถอดเข็มขัด รองเท้า นาฬิกา กระเป๋าสตางค์ ถอดใส่ไม่รู้กี่รอบ ถาดที่ใช้ก็แสนสกปรก รถนักท่องเที่ยวทุกคันต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธปืนประจำตลอดเวลา จะเปลี่ยนเส้นทางหรือโปรแกรมที่กำหนดไว้ไม่ได้ ทางเข้าโรงแรมมีเสาเหล็กโผล่ขึ้นมาจากพื้น รถที่ไม่ได้รับอนุญาตก็เข้าพื้นที่โรงแรมไม่ได้ ผู้เข้าพักก็ต้องเอกซเรย์กระเป๋าและผ่านเครื่องตรวจทุกครั้ง เข้าร้านอาหาร เข้าพิพิธภัณฑ์ เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งต้องเอกซเรย์กระเป๋า เอกซเรย์ตัว เล่นเอาแอลกอฮอล์พกพาหมดไปหลายอัน
เรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อาคารบ้านเมืองในกรุงไคโรและลักซอร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่สร้างไม่เสร็จ คือ เปลือยตัวอาคารไม่ฉาบปูน หลังคาก็ไม่มี มีแต่เสาปูนพร้อมเหล็กเส้นโผล่ให้เห็นเหมือนสร้างไม่เสร็จ แต่ในทุกอาคารมีคนอาศัยอยู่หมด ที่ต้องทำแบบนี้ไกด์บอกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ถ้าสร้างเสร็จแล้วต้องเสียภาษี ทุกเมืองในอียิปต์จึงขาดความสวยงาม ไม่เหมือนอารยธรรมอันสวยงามและยิ่งใหญ่ในอดีตเลย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”