สหประชาชาติประกอบด้วย 6 องค์กรหลัก องค์กรหลักที่สำคัญที่สุดคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ (ถาวร 5 ประเทศและไม่ถาวร 10 ประเทศ) การลงคะแนนเสียงในที่ประชุมของคณะมนตรีความมั่นคง ถ้าเป็นเรื่องระเบียบการดำเนินการ จะต้องมีมติเห็นชอบอย่างน้อย 9 เสียง แต่ถ้าเป็นเรื่องสาระสำคัญ นอกจากจะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 9 เสียงแล้ว ภายใน 9 เสียงนั้น สมาชิกถาวรทั้ง 5 ประเทศต้องเห็นชอบด้วย

หน้าที่หลักของคณะมนตรีความมั่นคงฯ คือเรื่องสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ต้องสอบสวนข้อพิพาทหรือสถานการณ์ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เสนอแนะวิธีการในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต้องวินิจฉัยว่ามีการคุกคามต่อสันติภาพหรือมีการกระทำรุกรานเกิดขึ้นหรือไม่ เรียกร้องให้สมาชิกสหประชาชาติดำเนินมาตรการต่างๆ รวมทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการใช้มาตรการทางทหารเพื่อต่อต้านการกระทำรุกรานหรือต่อต้านผู้รุกราน เสนอแนะสมัชชาใหญ่ในการรับสมาชิกใหม่ รวมถึงการแต่งตั้งเลขาธิการสหประชาชาติ และการแต่งตั้งผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

18 มีนาคม 2023 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เพิ่งออกหมายจับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม ซึ่งในความเป็นจริงไอซีซีไม่มีสิทธิไปออกหมายจับปูติน เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกไอซีซี ไอซีซี รับงานมาทำลายความน่าเชื่อถือของรัสเซียให้ได้อับอายในแวดวงระหว่างประเทศ คนที่ดีใจต่อหมายจับปูตินคือนายเซเลนสกี ประธานาธิบดีอูเครนที่ออกมายกย่องการออกหมายจับของไอซีซี และโจมตีปูตินอย่างรุนแรง

ขณะที่สหรัฐฯ นาโต อูเครน และประเทศบอลติก เตรียมประณามรัสเซียและปูตินในวาระครบรอบ 1 ปีของเหตุสังหารหมู่ที่เมืองบูชา ก็เกิดเหตุการณ์หน้าแตกหมอไม่รับเย็บเมื่อ 1 เมษายน 2023 รัสเซียเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

...

คนที่ออกมาโวยก็คือเซเลนสกีเจ้าเดิม บอกว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ ล่มสลายไปแล้วโดยสิ้นเชิง คำพูดที่เซเลนสกีร้องลั่นโลกคือ “เคราะห์ร้าย” และ “ไร้สาระและน่าเจ็บปวด” รัฐมนตรี ต่างประเทศอูเครนบอกว่า “นี่คือการตบหน้าประชาคมนานาชาติ” และ “ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ร่วมกันขัดขวางความพยายามของรัสเซียที่จะใช้อำนาจของประธานในทางที่ผิด” สหรัฐฯยอมรับว่าตนไม่สามารถขัดขวางรัสเซียจากตำแหน่งประธานและขอให้รัสเซียเป็นประธานอย่างมืออาชีพ เซเลนสกี ออกมาพูดซ้ำๆ ย้ำๆ เป็นแผ่นเสียงตกร่องหลายรอบว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องยกเครื่องสถาบันโลก รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงฯ ต้องปฏิรูปเพื่อขัดขวางรัฐก่อการร้าย

เวลาใกล้เคียงกัน พลเอกมาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพ และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ไปพบคณะกรรมาธิการด้านการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯโดยบอกว่า กองทัพกังวลที่รัสเซีย จีน และอิหร่านมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น “ความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศจะเป็นปัญหา (ต่อสหรัฐฯ) ในอนาคต โดยเฉพาะความร่วมมือของจีนและรัสเซียเนื่องจากศักยภาพของพวกเขา” ประธานคณะเสนาธิการร่วมฯ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่านี่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจหลักนิวเคลียร์พร้อมกันถึง 2 ชาติ

สหรัฐฯ นาโต และสหภาพยุโรป ประสบความสำเร็จที่สามารถใช้อูเครนยับยั้งความเจริญเติบโตของรัสเซียด้วยการลากรัสเซียเข้ามาติดหล่มสงคราม พวกนี้เชื่อว่ารัสเซียจะพ่ายแพ้และแผ่นดินจะแตกแยกเป็นเสี่ยงเหมือนอดีตสหภาพโซเวียต แต่ปูตินเดินหมากอย่างระวังทำให้สามารถยืนระยะโซ้ยกับสหรัฐฯและคณะได้จนถึงปัจจุบันนานกว่า 1 ปี

สงครามรัสเซีย-อูเครนทำให้หน้ากากของสหรัฐฯหลุด และเพื่อนมิตรหลายประเทศถอยตัวออกห่างไปอยู่กับฝั่งตรงข้าม เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป ก็โงนเงนโอนเอน ผู้คนประท้วงเพราะความอดอยากหิวโหย

ผิดกับฝั่งรัสเซีย จีน และพันธมิตรที่เหมือนเครื่องยนต์ดีเซล ออกตัวช้า แต่นับวันยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com