อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มชาติตะวันตก ที่แบนการใช้งานแชทบอทเอไอ ChatGPT ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ตอนนี้ โดยอ้างความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

ข่าวต่างประเทศรายงานในวันที่ 31 มี.ค. 2566 ว่า สำนักงานคุ้มครองข้อมูลของประเทศอิตาลี ประกาศแบนการใช้งาน แชทบอทชื่อว่า ‘ChatGPT’ ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก จนสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่อิตาลีระบุว่า มีความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับแชทบอทตัวนี้ ที่พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ในสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง ไมโครซอฟต์ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาจะสืบสวนด้วยว่า ChatGPT ละเมิดข้อบังคับใดๆ ของ ‘ระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป’ (GDPR) แห่งสหภาพยุโรปหรือไม่ด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากเมื่อ 20 มี.ค. เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลของอิตาลีเปิดเผยว่า พบการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อมูลการสนทนาของผู้ใช้และข้อมูลการจ่ายเงิน ในหมู่ผู้ใช้งาน ChatGPT โดยพวกเขาระบุว่า ไม่มีกฎหมายรองรับการรวบรวมและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก เพื่ออัลกอริทึมของแพลตฟอร์มนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ChatGPT ยังไม่มีหนทางในการยืนยันอายุของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้เยาว์อาจสามารถเข้าถึงคำตอบที่ไม่เหมาะสมต่ออัตราการพัฒนาและการตระหนักรู้ของพวกเขา ซึ่งบริษัท OpenAI จะมีเวลา 20 วันในการชี้แจงว่า พวกเขาจะแก้สิ่งที่เจ้าหน้าที่กังวลอย่างไร และถ้าทำไม่ได้พวกเขาอาจถูกปรับเงินสูงสุด 20 ล้านยูโร หรือไม่เกิน 4% ของรายได้ต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ใช้งาน ChatGPT เพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคนทั่วโลกนับตั้งแต่มันเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมันสามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก โดยใช้ข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตจนถึงปี 2564 เป็นฐานข้อมูล

...

อย่างไรก็ตาม การมาของมันทำให้เกิดความกังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงความเสี่ยงต่องานของมนุษย์ และการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีอคติ

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีจำนวนนับพันคน รวมถึงนาย อีลอน มัสก์ ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ หยุดพัฒนาเอไอชั่วคราว เพราะกังวลว่า การแข่งขันพัฒนาเอไอจะทำให้มันเติบโตจนเกิดการควบคุม

ที่มา : bbc