องค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับคำแนะนำใหม่ในฉีดวัคซีนโควิด-19 ระบุ เด็ก-ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน แต่คนสูงอายุและเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงควรฉีดวัคซีนในช่วง 6-12 เดือนหลังฉีดเข็มล่าสุด

เมื่อ 29 มี.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศปรับคำแนะนำใหม่ในการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ขณะการระบาดของโรคเข้าสู่เฟสใหม่ และเป็นยุคของสายพันธุ์โอมิครอน ว่า เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19  ยกเว้นแต่ผู้สูงอายุ หรือเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอื่นๆ ควรจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มบูสเตอร์ ระหว่าง 6-12 เดือน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มล่าสุด โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น อายุ หรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก ซึ่งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อ 28 มี.ค. 2566 ระบุว่า ขณะนี้ เด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นกลุ่มที่มี ‘ลำดับความสำคัญต่ำ’ สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

พร้อมกันนั้นองค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างเช่นภาระโรค (ความสูญเสียทางสุขภาพ, การเจ็บป่วย พิการและเสียชีวิต) ก่อนจะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่คนกลุ่มนี้ ในขณะที่องค์การอนามัยโลกยังคงย้ำว่า วัคซีนโควิด-19 และเข็มบูสเตอร์ มีความปลอดภัยต่อคนทุกช่วงอายุ แต่การปรับคำแนะนำเช่นนี้เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น การลดค่าใช้จ่าย

ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน 2565 องค์การอนามัยโลกชี้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ใกล้จะยุติลงแล้ว โดยการออกมาปรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นภาพการระบาดของโรคโควิด-19 และระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ควรมองว่าเป็นคำแนะนำระยะยาวว่าจะเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ประจำปีหรือไม่

...

‘การปรับคำแนะนำใหม่เป็นการย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นยังคงมีความเสี่ยงจากโรคร้ายนี้’ Hanna Nohynek ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลกกล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ที่สงบลง หลังจากโรคโควิด-19 ได้ระบาดใหญ่ในช่วง 3 ปีก่อน จนทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 683 ล้านคน และเสียชีวิต 6.8 ล้านศพ

ที่มา : CNA