รัฐบาลฝรั่งเศสของเอ็มมานูเอล มาครง รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งในสภา เปิดทางเดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญต่อ แม้ประชาชนประท้วง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มี.ค. 2566 รัฐบาลฝรั่งเศสของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง รอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ 2 รอบในรัฐสภา เปิดทางให้เขาเดินหน้าเพื่อบังคับใช้แผนการปฏิรูปเงินบำนาญ แม้ประชาชนจะต่อต้านอย่างหนักจนเกิดการประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน

การลงมติครั้งแรกที่ยื่นญัตติโดยกลุ่มการเมือง LIOT ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็กมากมาย มีสมาชิกรัฐสภาโหวตไม่ไว้วางใจ 278 เสียง ขาดอีกเพียง 9 เสียงจะได้เสียงข้างมาก ขณะที่การลงมติไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ซึ่งยื่นญัตติโดยพรรคขวาจัดย่าง ‘National Rally’ มีสมาชิกสภาสนับสนุนเพียง 94 เสียงเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในฝรั่งเศสนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายมาครงใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49.3 ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค. เพื่อให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ ซึ่งจะเพิ่มอายุเกษียณของแรงงานส่วนใหญ่จาก 62 ปีเป็น 64 ปีได้โดยไม่ต้องมีการลงมติในสภา ทำให้เกิดคลื่นการประท้วงไปทั่วประเทศ

ประชาชนจำนวนมากรวมตัวประท้วงในกรุงปารีส เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. 2566 เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาล
ประชาชนจำนวนมากรวมตัวประท้วงในกรุงปารีส เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. 2566 เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาล

...

และแม้ว่ารัฐบาลจะรอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่กระแสความไม่พอใจของสังคมยังไม่มีทีท่าจะลดลง โดยมีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวประท้วงกลางกรุงปารีส ตามหลังการลงมติในรัฐสภา

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำที่สุดในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม แต่ใช้งบประมาณไปกับเงินบำนาญถึง 14% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ มากกว่าประเทศส่วนใหญ่

รัฐบาลของนายมาครงมองว่า ระบบในปัจจุบันซึ่งต้องพึ่งพาประชากรวัยทำงานในการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มประชากรวัยเกษียณที่มีอายุมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์อีกต่อไป จึงตัดสินใจเดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญ

ที่มา : cnn