หัวเว่ยเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯและตะวันตกกลัวและแขยงแขงขนจนขี้ขึ้นสมอง จากเทคโนโลยีและแบรนด์โนเนม มุ่งมั่นพัฒนาจนกลายเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าทั้งโลกให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ค.ศ.1987 หรือเมื่อ 36 ปีที่แล้ว เหริน เจิ้งเฟย ทหารปลดประจำการเดินทางมาขอทางราชการก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยด้วยทุนจดทะเบียน 2.1 หมื่นหยวน เป็นเงินไทยสมัยนี้ ก็ประมาณ 1 แสนบาท หลังจากนั้นก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนมาเรื่อย จน ค.ศ.1993 หัวเว่ยลงทุน 89 ล้านหยวนเพื่อวิจัยพัฒนา ตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล อีก 3 ปีต่อมาเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 6 ท่านมาร่วมกันร่างกฎพื้นฐานของหัวเว่ย

หัวเว่ยทุ่มปฏิรูปการบริหาร 5 ปี จากนั้นก็ไปตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่อินเดีย สหรัฐฯ สวีเดน และรัสเซีย ค.ศ.2004 หัวเว่ย นำผลิตภัณฑ์ 3G ของตนเข้าไปขายในยุโรปได้ ค.ศ.2005 นิตยสารไทม์สคัดเลือก 100 อันดับผู้ทรงอิทธิพลของโลก มีเหรินเจิ้งเฟย บิล เกตส์ สตีฟ จ็อบส์ ฯลฯ ค.ศ.2007 หัวเว่ยชนะนอร์เทลด้วยยอดประกอบการ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็น 1 ใน 4 ของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารของโลกและต่อมาติดยอด 500 บริษัทโลก

ค.ศ.2012 ทุ่มทุนกับการวิจัยและพัฒนาคลาวด์คอมพิวติ้ง มีพนักงาน 1.5 แสน ค.ศ.2013 ผลประกอบการของหัวเว่ยชนะอิริคสัน สมาร์ทโฟนขายทะลุทะลวงตลาดไฮเอนด์ กลายเป็นที่นิยมของโลก ค.ศ.2017 ชิงส่วนแบ่งการตลาดโลกแซงแอปเปิล กลายเป็นอันดับ 2 รองจากซัมซุง

ยุคของทรัมป์และไบเดน หัวเว่ยเจอการกีดกันอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯและยุโรป รัฐบาลสหรัฐฯสั่งให้มีการปิดกั้นการส่งออกชิ้นส่วนให้หัวเว่ยตั้งแต่ ค.ศ.2019 ทำให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯจำใจยกเลิกการขายชิปให้หัวเว่ย ยุคที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดีแกมีคำสั่งห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ของหัวเว่ยในสหรัฐฯด้วย เมื่อโดนปิดกั้นจนไม่สามารถจะหาความร่วมมือกับผู้ผลิตในสหรัฐฯได้ หัวเว่ยจึงต้องลงทุนพัฒนาชิปของตนเอง จนปัจจุบันทุกวันนี้ประสบความสำเร็จขั้นสูง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ของหัวเว่ยกลายเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยสุดยอด

...

เมื่อถูกแกล้งกีดกันกดดัน บางบริษัทหรือบางประเทศยอมแพ้ งอมืองอเท้า และล้มเลิก แต่หัวเว่ยบริษัทสัญชาติจีนสู้ยิบตา ปีที่แล้ว ค.ศ.2022 หัวเว่ยก็ยังทุ่มงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากถึง 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.3 แสนล้านบาท) การลงทุนวิจัยเกือบจะ 1 ล้านล้านบาทภายในเวลาเพียง 1 ปี น่าจะทำให้นวัตกรรมที่ออกมาล้ำสมัย สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้กับโลกอย่างแน่นอน

นโยบายการกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรงของทรัมป์และไบเดนถือว่าผิดพลาดมาก แกล้งสารพัด ขนาดจับกุมคุมขังลูกสาวเขาก็ทำ เดิมบริษัทอเมริกันก็แฮปปี้มีความสุขกับการขายชิปและชิ้นส่วนให้หัวเว่ย หัวเว่ยขายสินค้าได้กำไร บริษัทอเมริกันก็ได้ด้วย ทว่าวันนี้ บริษัทอเมริกันไม่ได้ประโยชน์เหมือนเดิมแล้วครับ

บริษัทอเมริกันขาดรายได้ ไม่มีส่วนแบ่งจากการซื้อสินค้าของหัวเว่ย เมื่อไม่มีเงิน การวิจัยและพัฒนาก็เชื่องช้า ต่อไปในอนาคต บริษัทอเมริกันอาจจะต้องไปขอความเมตตากรุณาซื้อชิปและชิ้นส่วนจากจีน เรื่องอย่างนี้เคยเกิดมาแล้ว กับบริษัทที่เคยเป็นผู้นำเทคโนโลยีทั้งหลาย วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่นานกลับกลายเป็นผู้ตาม และล้มหายตายจากจากธุรกิจในบั้นปลายท้ายที่สุด

หัวเว่ยพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กำลังจะสร้างระบบวางแผนทรัพยากรที่เรียกว่า MetaERP ที่จะเปิดตัวในเดือนเมษายนที่จะถึง ซึ่งระบบนี้จะช่วยธุรกิจหลักของหัวเว่ย ทั้งด้านการเงิน ซัพพลายเชน และสายการผลิต หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประมวลผล เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีเอไอ

ตอนที่โดนทรัมป์และไบเดนกีดกัน ฝรั่งทั้งหลายเยาะเย้ยเปรยว่า หัวเว่ยแย่แน่แล้ว ใครจะนึกว่าหัวเว่ยฆ่าไม่ตาย ไม่ตายยังไม่พอ ยังมีโอกาสจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของจริงของโลกอีกด้วย.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com