ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยืนยัน พร้อมช่วยธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง เครดิต สวิส ที่หุ้นร่วงอย่างหนักตามหลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐฯ

เมื่อวันพุธที่ 15 มี.ค. 2566 หุ้นของธนาคาร เครดิต สวิส ดิ่งลงถึง 24% ลงไปอยู่จุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์จนต้องมีการระงับซื้อขาย เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารที่เต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาวตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กอปรกับข่าวการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB) ในสหรัฐฯ ยิ่งกระตุ้นความหวาดกลัวขึ้นไปอีก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ธนาคารแห่งชาติสวิส (SNB) และสำนักงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งสวิส ต้องรีบหาทางบรรเทาความกังวลแก่นักลงทุน โดยพวกเขายืนยันในแถลงการณ์ร่วมว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ความปั่นป่วนในตลาดธนาคารของสหรัฐฯ ตอนนี้ จะสร้างความเสี่ยงโดยตรงต่อสถาบันการเงินของสวิตเซอร์แลนด์

พวกเขาระบุอีกว่า สถาบันการเงินของสวิสมีกฎเข้มงวดในการรับรองเสถียรภาพของตัวเอง และธนาคารเครดิต สวิส ก็เข้าเกณฑ์การเป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบ ซึ่งหากจำเป็น SNB จะให้ความช่วยเหลือในด้านสภาพคล่องแก่ธนาคาร เครดิต สวิส

ก่อนหน้านี้ ความวิตกเรื่องความอ่อนแอของธนาคารยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศอย่าง เครดิต สวิส กดดันหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลก ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของสหภาพยุโรปอย่าง Stoxx Europe ดิ่งลงถึง 7% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ของสหราชอาณาจักร ร่วง 3.8% ซึ่งเป็นการลดลงในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่โควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาด

ดัชนีหุ้น Dax ของเยอรมนีก็ลดลงมากกว่า 3% เช่นเดียวกับดัชนี Cac 40 ของฝรั่งเศส ที่ปิดตลาดลดลง 3.5% ส่วนดัชนี Ibex 35 ของสเปน ลดลงมากกว่า 4% ขณะที่ในสหรัฐฯ หุ้นของธนาคารน้อยใหญ่ต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด ผลัดดาวโจนส์ ลดลงเกือบ 0.9% S&P 500 ลดลง 0.7% ขณะที่แนสแด็ก แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง

...

ทั้งนี้ ธนาคาร เครดิต สวิส ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2399 เผชิญเรื่องอื้อฉาวมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน และข้อหาคอร์รัปชันอื่นๆ ในขณะที่ผลประกอบการก็ไม่สู้ดี พวกเขาขาดทุนต่อเนื่องในปี 2564 กับ 2565 และเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2551 ขณะที่คาดว่าจะไม่มีกำไรไปจนถึงปี 2567

หุ้นของธนาคารก็เสียหายหนักตั้งแต่ก่อนธนาคาร SVB ล่มแล้ว เมื่อปีก่อนมูลค่าหุ้นของพวกเขาดิ่งลง 2 ใน 3 หลังลูกค้าแห่ถอนเงินออกไป โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ที่มีการถอนเงินถึง 1.1 แสนล้านสวิสฟรังก์

การล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ จากปัญหาสภาพคล่องหลังลูกค้าแห่ถอนเงินจำนวนมาก ต่อเนื่องด้วยการล่มสลายของธนาคารอีกแห่งคือ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในนิวยอร์ก ทำให้ความกลัวว่า ธนาคารอื่นๆ อาจประสบชะตากรรมเดียวกัน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงหนัก

ด้านผู้บริหารของธนาคาร เครดิต สวิส ยืนยันว่า สถานะทางการเงินของธนาคารไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากเงินสดสำรองของพวกเขานั้น ยังคงแข็งแกร่งมากๆ แต่ดูเหมือนจะไม่อาจคลายความวิตกของนักลงทุนได้ เห็นได้จากการเทขายหุ้นในวันพุธที่ผ่านมา

นายลอเรนซ์ ฟิงก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ BlackRock ระบุในรายงานประจำปีที่เสนอต่อนักลงทุนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทราบได้ว่า ความเสียหายจะแผ่ขยายเป็นวงกว้างแค่ไหน แต่จนถึงตอนนี้ การตอบสนองของเจ้าหน้าที่กำกับดูแลทางการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีการใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจาย แต่ตลาดยังคงหวั่นวิตกอยู่

ที่มา : bbc