ขณะที่มีอาการระคายเคืองตา มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก เสมหะ แถมยังคันหน้ายิกๆ สันนิษฐานว่าเป็นผลของ PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว แต่พิษสงร้ายแรงที่เราท่านยังต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ก็เหลือบไปเห็นรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2565 ของ IQAir บริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.นี้เอง

จากการวิเคราะห์คุณภาพอากาศจากความเข้มข้นของอนุภาค PM 2.5 โดยเฉลี่ย จาก 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก พบว่า ในปีที่แล้วมีเพียง 13 ประเทศและเขตแดนอย่าง ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เกรเนดา (ในทะเลแคริบเบียน) ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ กวม และเปอร์โตริโก เป็นต้น ที่มีคุณภาพอากาศ “ดี” ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติที่กำหนดให้มีระดับมลพิษทางอากาศเฉลี่ย ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือน้อยกว่า ปรับลดจากเดิมที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเดือน ก.ย.2564

ขณะที่ประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด 10 อันดับ ล้วนแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดย “ชาด” ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา ครองแชมป์อากาศแย่สุดประจำปี 2565 แซงบังกลาเทศอดีตแชมป์เมื่อปี 2564 ด้วยค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีที่ 89.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อด้วย อิรัก ปากีสถาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ คูเวต และอินเดีย มีคุณภาพอากาศเลวร้ายเกินเกณฑ์ที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก มีค่ามลพิษทางอากาศเฉลี่ยเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วย อียิปต์และทาจิกิสถาน

ส่วนเมืองที่มีอากาศเป็นพิษต่อสุขภาพมากที่สุดในโลกได้แก่เมือง “ละฮอร์” แคว้นปัญจาบ ของปากีสถาน ด้วย 97.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อด้วย เขต “เหอเถียน” ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ของจีนในลำดับที่ 2 ต่อด้วยเมืองพิวาตี รัฐราชสถาน และ เดลี ของอินเดีย และเปเชวาร์ ของปากีสถาน เป็น 5 เมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ ทั้งนี้ จากจำนวน 100 เมืองที่มีอากาศเลวร้าย ปรากฏว่าเป็นเมืองของอินเดียมากถึง 65 เมือง

...

ส่วนกรุงเทพมหานครของไทยอยู่ในอันดับ 1,247 นับว่ามีคุณภาพอากาศไม่เลวร้าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอาจเขยิบแบบก้าวกระโดดติดโผเมืองอากาศแย่อันดับต้นๆในรายงานคุณภาพ อากาศประจำปี 2566 ก็เป็นได้.

อมรดา พงศ์อุทัย