- กรุงเบอร์ลินไฟเขียวให้ผู้หญิงสามารถเปลือยท่อนบนว่ายน้ำในสระสาธารณะได้แล้ว โดยหากมองในแง่ดีนี่คือความเท่าเทียมทางเพศ แต่อีกแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมเปลือยกายของเยอรมนีที่มีมาช้านาน
- กรุงเบอร์ลินไม่ใช่เมืองแรกในเยอรมนีที่อนุญาตให้หญิงสาวสามารถเปลือยเปล่าท่อนบนลงว่ายน้ำตามที่สาธารณะได้ เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว เมืองกอทิงเกนในรัฐโลเวอร์แซกโนซีตอนกลางของประเทศเยอรมนี ได้นำร่องให้ผู้หญิงสามารถเปลือยอกว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ ทั้งในร่มและกลางแจ้งได้เป็นเมืองแรก
สาเหตุที่เกิดระเบียบใหม่นี้ขึ้นมาในกรุงเบอร์ลิน ก็เพราะเกิดเหตุการณ์ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าร้องเรียนต่อทางการ จากกรณีที่เธอถูกไล่ออกจากสระว่ายน้ำกลางแจ้ง และถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เนื่องจากเธอเปลือยท่อนบน จนนำไปสู่การพิจารณาถึงการเลือกปฏิบัติ และมีคำสั่งออกมาในภายหลังให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความเท่าเทียมกันที่จะเปลือยท่อนบนว่ายน้ำในสระของกรุงเบอร์ลินได้ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนวัฒนธรรมเปลือยกายปลื้มปริ่มกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ที่จริงแล้ว กรุงเบอร์ลิน ไม่ใช่เมืองแรกในเยอรมนีที่อนุญาตให้หญิงสาวสามารถเปลือยเปล่าท่อนบนลงว่ายน้ำตามที่สาธารณะได้ เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว ที่เมืองกอทิงเกนในรัฐโลเวอร์แซกโนซีตอนกลางของประเทศเยอรมนี ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยมีเหตุการณ์ที่นักว่ายน้ำข้ามเพศ ถูกเจ้าหน้าที่ร้องขอให้ใส่ชุดว่ายน้ำปิดหน้าอก แม้ว่านักว่ายน้ำข้ามเพศคนดังกล่าวจะยืนยันว่าตนเป็นผู้ชายก็ตาม สุดท้ายพนักงานต้องขอให้นักว่ายน้ำคนดังกล่าวออกจากพื้นที่ไป ซึ่งกรณีดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ จนนำไปสู่การนำร่องให้ผู้หญิงสามารถเปลือยอกว่ายน้ำในสระว่ายน้ำทั้งในร่มและกลางแจ้งได้เป็นเมืองแรก แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการทดลองในระยะหนึ่งเท่านั้น
...
นอกจากเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังเป็นกระจกสะท้อนถึงวัฒนธรรมเปลือยกายของเยอรมนี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากอยู่ในสังคมเยอรมนีตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตชาวเยอรมัน โดยมีชื่อเรียกว่า ฟรายเคาร์เพอร์เคิลทู หรือ เอฟคาคา (Freikörperkultur – FKK) หรือในภาษาอังกฤษคือ Free-body Culture นั่นเอง
โดยวัฒนธรรมนี้เชื่อว่าการเปลือยกายของมนุษย์มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นการสร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยชาวเยอรมันมักเปลือยกายเล่นน้ำในทะเลสาบ เปลือยกายเล่นกีฬา รวมทั้งยังนุ่งลมห่มฟ้านอนหลับในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติ
คีออน เวสต์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่โกลด์สมิทส์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติเกี่ยวกับการเปลือยกายในหลายประเทศในยุโรป โดยพบว่า คนส่วนใหญ่จะมองว่าชาวเยอรมันสบายใจกับการเปลือยกายมากกว่าชาวอังกฤษหรืออเมริกันอยู่แล้ว โดยความแตกต่างของทัศนคติที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับการร่างกายที่เปลือยเปล่าในเยอรมนี เมื่อเทียบกับอังกฤษและสหรัฐฯก็คือ ชาวเยอรมันจะไม่มีความคิดในเรื่องนี้แตกแยกกับคนอื่นๆ เพราะการเปลือยกายเป็นสิ่งสามัญที่ยอมรับได้ของการดำรงชีวิต และการเปลือยกายในที่สาธารณะก็ไม่ได้ดูเป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นแต่อย่างใด โดยใครอยากจะเปลือยกายก็สามารถทำได้ หากพวกเขารู้สึกดีกับมัน
สำหรับองค์กรเอฟคาคา แห่งแรกของประเทศเยอรมนี ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1898 ก่อนที่จะแผ่ขยายอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยในปี 1920 เยอรมนีมีการตั้งชายหาดนู้ดขึ้นเป็นที่แรกของประเทศโดยอยู่บนเกาะ Sylt หลังจากนั้นอีกราว 10 ปีถัดมา ก็มีการตั้งโรงเรียนเปลือยกายแห่งเบอร์ลิน เพื่อส่งเสริมการเปลือยกายออกกำลังกายกลางแจ้ง ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาเปลือยกายระหว่างประเทศแห่งแรก
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวส่งเสริมการเปลือยกายในเวลานั้น ถูกสั่งห้ามในยุคนาซี ซึ่งมองว่าผิดศีลธรรม จนกระทั่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่เยอรมนีแบ่งออกเป็นตะวันออกและตะวันตก วัฒนธรรมเปลือยกายก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในเยอรมันตะวันออก และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงเยอรมนียุคใหม่ โดยปัจจุบันนี้มีชาวเยอรมันราว 600,000 คน ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มสโมสรเปลือยกาย หรือเอฟคาคา กว่า 300 แห่ง และยังมีสโมสรในเครืออีก 14 แห่งในออสเตรียด้วย การอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเปลือยท่อนบนว่ายน้ำได้ทัดเทียมกับผู้ชายของกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีในครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญทั้งการสนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาคของเพศหญิงตามมุมมองของต่างชาติ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจจะแฝงการแผ่ขยายอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของการเปลือยกายไปยังสังคมโลกไปอย่างแนบเนียนด้วยเช่นกัน.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล