ผลวิจัยใหม่ชี้ว่า ในทะเลทั่วโลกตอนนี้มีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ถึง 171 ล้านล้านชิ้น และอาจเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าภายใน 2 ทศวรรษหน้าหากยังไม่มีมาตรการแก้ไข
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลการวิจัยใหม่ของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วารสาร ‘PLOS ONE’ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ระบุว่า ตอนนี้ในทะเลทั่วโลกมีไมโครพลาสติก หรือ เศษพลาสติกที่มีขนาดไม่เกิน 5 มม. สะสมอยู่มากถึง 171 ล้านล้านชิ้น ซึ่งหากนำมารวมกันมันจะมีน้ำหนักกว่า 2.3 ล้านตัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บรวบรวมระหว่างปี 2522 ถึงปี 2562 จากจุดเก็บตัวอย่างกว่า 12,000 จุดในมหาสมุทรแอตแลนติก, แปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยพบว่าปริมาณอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2548
รายงานเตือนด้วยว่า หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อัตราที่พลาสติกจะเข้าสู่ท้องทะเล จะเพิ่มขึ้นราว 2.6 เท่านับตั้งแต่ตอนนี้ถึงปี 2583
ทั้งนี้ การผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวในขณะที่ระบบจัดการขยะที่มีอยู่ตามไม่ทัน ทำให้ตอนนี้ในแต่ละปีจะมีพลาสติกเพียง 9% ของที่มีอยู่ในโลกได้รับการรีไซเคิล
พลาสติกจำนวนมากในโลกสุดท้ายจะลงสู่ทะเลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มาจากบนบก หรือไหลลงผ่านทางแม่น้ำ เพราะ ฝน, ลม, ท่อระบาดน้ำที่ล้นทะลักเพราะพายุ และการขนไปทิ้งในทะเล นอกจากนั้นยังมาจากอุปกรณ์ในการทำประมงที่หลุดหาย หรือถูกทิ้งลงทะเลด้วย
เมื่อพลาสติกเข้าสู่ทะเลแล้ว มันจะไม่ย่อยสลาย แต่แตกตัวเป็นเศษเล็กๆ ที่ทำความสะอาดยากมาก สิ่งมีชีวิตในทะเลอาจถูกพลาสติกเหล่านี้พัวพันหรือเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารแล้วกินมันเข้าไป
...
ไมโครพลาสติกไม่ได้เป็นเพียงหายนะทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาสำคัญทางสภาพอากาศด้วย เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกแทบทุกชนิด และพวกมันทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งช่วงชีวิตของมัน นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการกำจัด
ที่มา : cnn