การพัฒนาสร้างหุ่นยนต์นิ่มที่ปล่อยให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อาจช่วยปูทางไปสู่การใช้งานด้านการแพทย์ โดยเฉพาะการผ่าตัดภายในร่างกาย ผ่านการทำงานระยะไกล หรือนำไปใช้ตรวจจับหรือค้นหาร่างของผู้คนวัตถุ ในสถานที่อันตราย ยากต่อการเข้าถึงระหว่างปฏิบัติการกู้ภัย

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีแห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ในแคนาดา เผยการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์นิ่มแบบใหม่ที่ชื่อ “GeiwBot” ได้รับแรงบันดาลใจจากตุ๊กแกและหนอนผีเสื้อ ขับเคลื่อนด้วยการใช้แสงอัลตราไวโอเลต และแรงแม่เหล็ก GeiwBot สร้างด้วยวัสดุอีลาสโตเมอร์ผลึกเหลวและแผ่นกาวยางสังเคราะห์ ซึ่งโพลิเมอร์จะตอบสนองต่อแสงจำลองการโค้งงอ คล้ายการยืดตัวของหนอนผีเสื้อ ขณะที่แผ่นแม่เหล็กที่ได้แรงบันดาลใจจากการเกาะหนึบของตีนของตุ๊กแก จะติดตั้งอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของหุ่นยนต์นิ่มและทำหน้าที่จับยึดพื้นผิว

หุ่นยนต์นิ่ม GeiwBot มีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กว้าง 3 มิลลิเมตร หนา 1 มิลลิเมตร สามารถปีนขึ้นไปบนกำแพงแนวตั้งและข้ามเพดานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟภายนอก จึงสามารถสั่งการได้จากระยะไกลและใช้งานได้หลากหลาย อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเอาชนะ แต่การพัฒนานี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการใช้ประโยชน์จากวัสดุชีวภาพและวัสดุอัจฉริยะสำหรับหุ่นยนต์นิ่ม.

Credit : University of Waterloo

...