การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงานทั่วโลก กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากระยะไกล รวมไปถึงแนวความคิดเรื่องลดจำนวนวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิมที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างสมดุลและพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและถึงขั้นลงมือทดลองอย่างจริงจัง หากแนวความคิดจำนวนวันทำงานลดลงเป็นสิ่งที่ฟังแล้วสดชื่นรื่นหู ผลลัพธ์ของโครงการนำร่องดังกล่าวจากอังกฤษยิ่งทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราท่านมีความหวังเรืองรองรออยู่เบื้องหน้า

หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองนาน 6 เดือน ในอังกฤษ โดยองค์กรคลังสมอง “ออโตโนมี” องค์กรไม่แสวงหากำไร “โฟร์ เดย์ วีก แคมเปญ” ร่วมด้วยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บอสตัน คอลเลจ ภายใต้โมเดล 100:80:100 หมายถึง 100% ของค่าจ้างไม่มีการหัก 80% ของวันทำงาน แลกกับความมุ่งมั่นที่จะรักษาประสิทธิภาพการทำงาน 100% ที่มีบริษัทต่างๆจากหลากธุรกิจราว 61 แห่ง ตั้งแต่โรงเบียร์ ธนาคาร บริษัทออกแบบเกม และร้านฟิชแอนด์ชิปในท้องถิ่น และพนักงานมากกว่า 2,900 คน เข้าร่วมในโครงการนำร่องตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ผลปรากฏว่าการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เรียกได้ว่าเป็น “ความก้าวหน้าครั้งสำคัญ”

บริษัทราว 56 แห่ง วางแผนให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ต่อไป ในจำนวนนี้ 18 บริษัท เปลี่ยนมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อย่างถาวร มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ยุติแนวทางดังกล่าวชั่วคราว

ผลการวิจัยเผยว่า อัตราความเครียดและการเจ็บป่วยของพนักงานลดลงอย่างมาก พนักงานราว 39% ระบุว่า เครียดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของการทดลอง และจำนวนวันลาป่วยยังลดลงประมาณ 2 ใน 3 พนักงานยังมีแนวโน้มที่จะทำงานในองค์กรต่อไป แม้ว่าการทดลองครั้งนี้จะเกิดขึ้นระหว่างช่วง “การลาออกระลอกใหญ่” (The Great Resignation) จำนวนพนักงานลาออกจากบริษัทที่เข้าร่วมลดลง 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

...

ในระหว่างการทดลองพบว่า รายได้ของบริษัทที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉลี่ย 1.4% และเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนเดียวกันในปี 2564 ขณะที่ ดร.เดวิด เฟรย์น จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สรุปว่า เมื่อพนักงานมีสุขภาพดีทั้งจิตใจและร่างกายย่อมทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

ผลการวิจัยของโครงการนำร่องจะถูกนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป หวังลดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ของชาวอังกฤษลงจาก 48 ชั่วโมง เป็น 32 ชั่วโมงในอนาคต.

อมรดา พงศ์อุทัย