รัฐบาลอัฟกานิสถานกล่าวว่า จะเปลี่ยนพื้นที่ฐานทัพต่างชาติในอดีตบางแห่งให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจสำหรับการประกอบธุรกิจต่างๆ

นายมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์จะทยอยเข้าควบคุมฐานทัพทหารที่เหลืออยู่ของกองกำลังต่างชาติ โดยมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเสริมว่าโครงการจะเริ่มต้นด้วยพื้นที่ฐานทัพในกรุงคาบูล และจังหวัดบัลก์ทางตอนเหนือ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

อัฟกานิสถานเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและมนุษยธรรมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมประเทศอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564 หลังจากกองกำลังทหารต่างชาติเข้าประจำการในประเทศเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ ได้ถอนกำลังออกจากประเทศ 

อัฟกานิสถานถูกประเมินว่าครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงก๊าซธรรมชาติ ทองแดงและแร่หายาก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินสำรองส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้ใช้ เนื่องจากความวุ่นวายหลายทศวรรษในประเทศ

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 เที่ยวบินสุดท้ายของกองทัพสหรัฐฯ ออกจากสนามบินคาบูล ถือเป็นการสิ้นสุดการประจำการในอัฟกานิสถานเป็นเวลา 20 ปี และเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดของอเมริกา หลังความขัดแย้งได้คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคนและอีกนับล้านคนต้องพลัดถิ่น

นับตั้งแต่การถอนกำลังทหารต่างชาติ สถานะการเงินของอัฟกานิสถานก็ได้รับผลกระทบจากประเด็นสำคัญอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น การคว่ำบาตรสมาชิกของรัฐบาล สินทรัพย์ในต่างประเทศของธนาคารกลางถูกระงับ และการถูกระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศส่วนใหญ่ซึ่งเคยให้การสนับสนุน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันกล่าวว่า มีแผนที่จะเซ็นสัญญากับบริษัทจีนเพื่อขุดเจาะน้ำมันทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน โดยข้อตกลงที่มีระยะเวลา 25 ปี ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนี้

...

รัฐบาลจีนไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการต่อการปกครองของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน แต่แสดงความสนใจต่ออัฟกานิสถานอย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน

โครงการนี้ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในปี 2556 โดยจัดหาเงินทุนสำหรับประเทศเกิดใหม่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน และสะพาน.